xs
xsm
sm
md
lg

คาด กนง.ตรึง ดบ. 1.25% ทำนายปี 53 ธปท.เผชิญความท้าทาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้บริหาร ธ.กสิกร คาดที่ประชุม กนง.วันนี้ ยังตรึง ดบ.ต่ำไว้ที่ 1.25% คาดปีหน้า ดบ.ขาขึ้น พร้อมตั้งข้อสังเกตุ การใช้ ดบ.ต่ำเป็นเวลานาน แต่กลับไม่เห็นสัญญาณฟองสบู่ ชี้ สถานการณ์ ดบ.นับจากนี้ไป ถือเป็นความท้าทายของแบงก์ชาติ เพราะการขึ้นดอกเบี้ยเร็วไป อาจจะเกิดผลเสีย ทำให้ ศก.ชะงัก แต่ถ้าผ่อนคลายนานๆ ต่อไปเรื่อยๆ ก็จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK คาดการณ์ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้ โดยเชื่อว่า กนง.จะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์/พี) ไว้ในระดับ 1.25% พร้อมประเมินแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นจะเริ่มประมาณกลางปีหน้า ซึ่งคาดว่า กนง.จะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 2 ปี 2553 ค่อนไปถึงครึ่งหลังของปี และมองว่า ตลอดทั้งปี 2553 จะปรับขึ้นในช่วง 0.50-0.75%

ทั้งนี้ หากประเมินว่า กนง.จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย อาร์/พี ในระยะเวลาดังกล่าว ก็เป็นไปได้ที่ธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนหน้านั้น เพราะธนาคารพาณิชย์จะมองแนวโน้มการแข่งขันไปก่อนล่วงหน้า โดยหากดอกเบี้ยอาร์พีปรับขึ้นในช่วง 0.50-0.75% อัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็น่าจะขึ้นไม่น้อยกว่า 0.75% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยังต้องขึ้นกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและภาวะการแข่งขัน

"คงบอกไม่ได้ว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยขึ้นอีกเท่าไหร่ เพราะดอกเบี้ยเงินฝากในตอนนี้ ยังไม่มีการแข่งขันแบบมีนัยยะสำคัญ เพราะแต่ละแบงก์ก็ต่างกันแต่ละแบบ ตามสภาพคล่องของตัวเอง คงพูดชัดเจนตอนนี้ไม่ได้"

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อขณะนี้ แม้ว่าในเดือนพฤศจิกายน 2552 จะเร่งตัวขึ้นมาเป็นบวกมากขึ้นที่ 1.9% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เนื่องจากไม่ได้เกิดจากอุปสงค์เร่งตัวขึ้น สะท้อนการบริโภคทั่วไป ยังฟื้นตัวไม่แข็งแรง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ยังไม่ต่อเนื่องมาก นอกจากนี้ ต้องไปดูว่า การยกเลิกหรือลดระดับของมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน จะเป็นแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวเร็วกว่าที่คาดหรือไม่

นายประสาร กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงไม่อยากทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบมากๆ และต้องติดตามดอกเบี้ยต่างประเทศด้วยที่แม้ตอนนี้จะอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็เริ่มขยับขึ้นแล้ว ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของไทยต่ำมาก ซึ่งเป็นภาวะความจำเป็นตามสภาพเศรษฐกิจ แต่ถ้าเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวปกติ ก็น่าจะมีการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25%

ดังนั้น การใช้ดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะนาน อาจเกิดภาวะฟองสบู่ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นสัญญาณฟองสบู่เลย ดังนั้นจะต้องหาความสมดุลกับเศรษฐกิจที่ถดถอยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าขึ้นดอกเบี้ยเร็วไปอาจจะเกิดผลเสีย แต่ถ้าผ่อนคลายนานๆ ต่อไปเรื่อยๆ ก็มีต้นทุนเพิ่มขึ้น คือ ทางด้านเงินเฟ้อ และการจัดสรรทรัพยากร ถือเป็นโจทย์ท้าทายของ ธปท.นับจากนี้ไป
กำลังโหลดความคิดเห็น