xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผนงาน ตลท.ปี 53 ดึง บจ.ใหญ่ดันมาร์เกตแคปเพิ่มแสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลท.เปิดแผนงานปี 53 เพิ่มมาร์เกตแคป 1 แสนล้าน วอลุ่มเทรดเฉลี่ยวันละ 1.75-2.20 ล้านบาท  พุ่งเป้าดึง บจ.ต่างชาติขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพ เล็งดึง บ.ลูกรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพ เข้าจดทะเบียน

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานปี 2553 โดยระบุว่า ตลท.ได้วางเป้าหมายมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) เพิ่มขึ้นอีก 100,000 ล้านบาท จากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่เข้าใหม่ โดยจะเน้นบริษัทขนาดใหญ่ มีคุณภาพ และบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ทั้งนี้ ตลท.จะมีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อผลักดันบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียน นอกจากนี้ยังเดินหน้าการจดทะเบียน 2 ตลาด หรือ Dual Listing ซึ่งนอกจากกลุ่มซีไอเอ็มบี มาเลเซีย ที่จะเข้าจดทะเบียนในปี 2553

ขณะนี้ ตลท. กำลังพูดคุยกับบริษัทไทยแอร์เอเชีย ของประเทศมาเลเซีย เพื่อนำเข้ามาจดทะเบียน ซึ่งการมีบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพจะเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นของผู้ลงทุนสถาบัน โดย ตลท. ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นของผู้ลงทุนสถาบันในประเทศเป็น 12-15% จากสินเดือนมิถุนายน 2552 อยู่ที่ 9.85% และตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยเป็น 17,500 – 22,000 ล้านบาทต่อวัน

นอกจากนี้ แผนงานในปี 2553 ตลท.จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า 10 บาท ในไตรมาส 1 สัญญาซื้อขายล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ย ในไตรมาส 4 และเพิ่ม Exchange Traded Funds หรือ ETFs เพิ่มเติม 4 กองทุน

นางภัทรียา กล่าวว่า การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ ตลท.ในปี 2553 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาตลาดทุนไทย 4 ด้าน คือการเพิ่มคุณภาพและยกระดับความน่าเชื่อถือของตลาดหุ้นไทย การเพิ่มสภาพคล่อง การสร้างฐานสำหรับอนาคต และการเตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิรูปตลาดหลักทรัพย์เป็นบริษัทมหาชนในปี 2554

ด้านนางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการ สายงานการตลาดและงานบริการหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ ตลท. กล่าวว่า ในปีหน้า ตลท.จะเน้นเพิ่มสภาพคล่องบริษัทจดทะเบียนขนาดกลางที่มีประวัติการทำกำไรอย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนผู้ลงทุนสถาบันที่ปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีสัดส่วนเพียง 18% ขณะที่ศฮ่องกงที่มีสัดส่วนสูงถึง 59% รองมาประเทศสิงค์โปร์ 46% มาเลเซีย 42%

นอกจากนี้ จะเพิ่มปริมาณธุรกรรมนักลงทุนสถาบันในตลาดอนุพันธ์ด้วยการพัฒนาช่องทางและการปรับปรุงเกณฑ์ให้เอื้อต่อการเข้าถึงนักลงทุนมากขึ้น ตลอดจนการผลักดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุญาตให้มีการวางหลักประกันเป็นเงินสกุลต่างประเทศได้ ซึ่งจะเป็นการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินและเพิ่มความคล่องตัวให้กับนักลงทุนสถาบันอีกทาง

พร้อมกันนี้ ตลท.ยังต้องการผลักดันนโยบายภาครัฐให้คณะกรรมการบริหาร กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) สามารถลงทุนตลาดหุ้นไทยได้เพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น