เอเอฟพี - แอร์เอเชีย สายการบินโลว์คอสต์รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแผนนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทย และอินโดนีเซีย ปูทางระดมทุนจากตลาดในภูมิภาคนี้ แม้ธุรกิจการบินจะยังอยู่ในภาวะผันผวน
ปัจจุบันแอร์เอเชียเป็นสายการบินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีเครือข่ายการบินครอบคลุมมากที่สุด ด้วยเส้นทางบินกว่า 70 เส้นทางใน 20 ประเทศ และเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากจุดเริ่มต้นที่มีเครื่องบินเพียง 2 ลำ จนสามารถเพิ่มจำนวนเป็น 85 ลำภายในเวลาเพียง 7 ปี
แอร์เอเชียเวลานี้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของมาเลเซียแล้ว และต้องการนำบริษัทพร้อมกิจการที่เป็นเครือข่ายพันธมิตรในไทย คือ “ไทยแอร์เอเชีย” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งต้องการจดทะเบียน “อินโดนีเซียแอร์เอเชีย” ในตลาดหลักทรัพย์ของอินโดนีเซียด้วย
“เราเป็นบริษัทอาเซียน และต้องการให้นักลงทุนในอาเซียนเข้ามาซื้อหุ้นของเรา หากเราสามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ถึงสามแห่ง ก็จะเพิ่มอัตลักษณ์ความเป็นอาเซียนให้กับบริษัทด้วย” โทนี เฟอร์นันเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแอร์เอเชียกล่าวที่กรุงกัวลาลัมเปอร์
เฟอร์นันเดสกล่าวว่า ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกสองแห่งนี้ได้เมื่อไรแน่ เนื่องจากแผนการดังกล่าวยังอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น แต่เขามั่นใจว่าหุ้นของบริษัทจะเป็นที่ต้องการอย่างแน่นอน แม้ว่าขณะนี้อุตสาหกรรมการบินกำลังประสบปัญหาหนักจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยก็ตาม
นอกจากนั้น การนำกิจการทั้งสองเข้าจดทะเบียนก็จะเป็นการเพิ่มแรงขับเคลื่อนใหม่ๆ ให้กับตลาดทุนของไทยและอินโดนีเซีย และ “ทำให้นักลงทุนในแต่ละประเทศเข้ามีส่วนร่วมกับบริษัทที่มีศักยภาพการเติบโตสูง”
แอร์เอเชียได้เลือกซีไอเอ็มบี อินเวสต์เมนต์ แบงก็ ซึ่งเป็นกิจการหนึ่งของ ซีไอเอ็มบี กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ธนาคารใหญ่อันดับสองของมาเลเซีย ให้เป็นผู้ดำเนินการหลักเรื่องการจดทะเบียนกิจการในตลาดหลักทรัพย์ทั้งสองแห่งดังกล่าว
ทั้งนี้ แผนการนำบริษัทแอร์เอเชียเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทย ยังมีขึ้นหลังจากที่ซีไอเอ็มบี กรุ๊ป โฮลดิงส์ เพิ่งประกาศแผนการจดทะเบียนกิจการธนาคารในตลาดหลักทรัพย์ของไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2010 ด้วย
เฟอร์นันเดสบอกว่าโดยภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินแล้ว แอร์เอเชียอยู่ในสถานการณ์ดีกว่าคู่แข่ง และว่า“เราจะเดินหน้าต่อในเรื่องการขยายเส้นทางบิน เช่น จะขยายเส้นทางในอินเดีย เพราะเป็นอนุภูมิภาคที่น่าตื่นเต้นมากสำหรับแอร์เอเชีย”
เฟอร์นันเดสเสริมด้วยว่า ในขณะที่สายการบินชั้นนำต่างประสบปัญหาหนักจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่สายการบินราคาประหยัดสามารถปรับตัวในสภาพการณ์ดังกล่าวได้ดีกว่า
“ความต้องการใช้บริการของแอร์เอเชียยังคงมีอยู่สูง เราจึงเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจได้อย่างดี ตอนนี้ดีมานด์ของไตรมาสที่สี่ก็ดีเช่นกัน”
อนึ่ง ผลกำไรสุทธิของแอร์เอเชียในช่วงสามเดือนนับถึงกันยายนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเป็น130.07 ล้านริงกิต (38.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จากยอดขาดทุน 465.53 ล้านริงกิตในช่วงเดียวกันของเมื่อปีที่แล้ว
แอนดรูว์ เฮิร์ดแมน ผู้อำนวยการใหญ่ของสมาคมสายการบินเอเชียแปซิฟิก (เอเอพีเอ) ระบุว่า ช่วง 10 เดือนแรกของปี 2009 “เป็นช่วงที่ยากลำบากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์สำหรับธุรกิจสายการบิน” เพราะจำนวนผู้โดยสารลดลงราว 8.2 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่การขนส่งสินค้าทางอากาศก็ลดลงถึง 16.5 เปอร์เซ็นต์” แต่คาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะผ่านพ้นปัญหาไปได้ในช่วงปีหน้า