xs
xsm
sm
md
lg

แฉ บ.ใหญ่สวม “บีโอไอ” ซิกแซกภาษี ปี 52 ตรวจเจอ 20 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สรรพากร” เปิดโปงบริษัทขาใหญ่สวม “บีโอไอ” ซิกแซกเลี่ยงภาษี แฉพฤติกรรมสุดละโมบ กอบโกยผลประโยชน์เพิ่มเติมจากสิทธิพิเศษ ทั้งการผลิตเกินเงื่อนไข-ลักไก่ขายวัตถุดิบนำเข้าโดยไม่ได้ผลิตสินค้าเอง โดยตรวจพบถึง 20 ราย ขณะที่วิกฤต ศก.ฉุดยอดขอลงทุน 10 เดือนแรกปี 52 มูลค่าวูบกว่า 9% ต่างชาติหายเงียบ

นายประสงค์ พูนธเนศ รองอธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงผลการเข้าตรวจภาษีบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกเว้นภาษี จาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พบว่า มีบริษัทเสียภาษีไม่ถูกต้องจำนวนมาก โดยปัจจุบันมีบริษัทที่ได้บีโอไอจำนวน 800 ราย มีผู้เสียภาษีถูกต้อง 88% มีจำนวน 20 รายที่กำลังมีปัญหาข้อพิพาทเรื่องภาษี

นายประสงค์ ยกตัวอย่างกรณีบริษัทแห่งหนึ่งที่ได้รับบีโอไอให้ผลิตปากกา 1 ล้านด้าม แต่มีการผลิตมากถึง 1.6 ล้านด้าน ดังนั้น ในส่วนที่เกิน 6 แสนด้าม ก็ต้องเสียภาษีกำไรให้กรมสรรพากร ซึ่งต้องมีการพิสูจน์ตรวจสอบต่อไป

นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ประกอบการบางรายได้รับบีโอไอให้ผลิตปากกาแต่กลับไปผลิตดินสอซึ่งไม่ได้รับบีโอไอ ซึ่งในส่วนการผลิตดินสอต้องเสียภาษี ซึ่งกรมสรรพากรต้องตรวจสอบการเฉลี่ยต้นทุนการดำเนินการให้ถูกต้องเพื่อให้การเสียภาษีถูกต้อง และยังพบว่าบางแห่งมีการลักไก่นำเข้าวัตถุดิบไปขายแทนการผลิตสินค้าด้วย

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่ต้องเข้าไปตรวจสอบ ได้แก่ กรณีที่ผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมบีโอไอ เพื่อนำวัตถุดิบนำเข้ามาผลิตสินค้าตามที่ได้รับบีโอไอ แต่ปรากฏว่า ผู้ประกอบการบางรายนำวัตถุดิบนั้นไปขายต่อ หรือไม่ได้ผลิตสินค้า และยังพบว่าปัจจุบันปัญหาภาษีบีโอไอมากขึ้น เพราะมีผู้ประกอบการ และจำนวนโครงการที่ขอบีโอไอมากขึ้น ทำให้การคิดกำไรสุทธิของกิจการผู้ประกอบการมีปัญหาตามมา

“ปัญหาภาษีบีโอไอมีมากขึ้น เพราะมีผู้ประกอบการและจำนวนโครงการที่ขอบีโอไอมากขึ้นทำให้การคิดกำไรสุทธิของกิจการผู้ประกอบการมีปัญหา โดยตามกฎหมายของกรมสรรพากร กรณีผู้ประกอบการมีโครงการที่ได้รับบีโอไอหลายโครงการให้นำกำไรขาดทุนของโครงการที่ได้รับบีโอไอหักลบกลบกันก่อน หากมีผลขาดทุนเหลือให้นำผลขาดทุนรวมกับโครงการที่ไม่ได้บีโอไอก่อนเสีนภาษีได้”

มีรายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แจ้งว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอทั้งสิ้น 930 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนราว 330,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า จำนวนโครงการลดลงราว 10% มูลค่าการลงทุนลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 367,000 ล้านบาท มีสาเหตุจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ดี มีสัญญาณการฟื้นตัวของการลงทุนที่เริ่มทยอยกลับมา โดยช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงที่สุดในรอบ 10 เดือนแรกของปีนี้ โดยเฉพาะการลงทุนในกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี เพื่อผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และกิจการผลิตไฟฟ้า

สำหรับอุตสาหกรรมที่มีผู้สนใจขอรับการส่งเสริมการลงทุน ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้เป็นอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าการลงทุนรวม 180,600 ล้านบาท รองลงมา คือ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่าการลงทุนรวม 47,400 ล้านบาท โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง มูลค่าการลงทุนรวม 39,700 ล้านบาท

ส่วนกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย หรือปานกลาง หลังจากที่บีโอไอปรับเงื่อนไขการให้การส่งเสริมการลงทุน และราคาจำหน่าย ปรากฏว่า มีผู้สนใจยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 42 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 3,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งแรกของปีนี้ที่มีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพียง 3 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 500 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนสร้างคอนโดมิเนียม และทาวน์เฮาส์

สำหรับยอดการขอรับส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า มีมูลค่าการลงทุนรวม 157,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุนรวม 247,962 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าที่ลดลงราว 90,000 ล้านบาท เนื่องจากนักลงทุนประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้การขยายกิจการและการลงทุนใหม่ต้องชะลอออกไป

ทั้งนี้ นักลงทุนจากญี่ปุ่นยังคงเป็นกลุ่มที่เข้ามาลงทุนในไทยสูงที่สุด ทั้งจำนวนโครงการ และมูลค่าลงทุน โดยมีมูลค่าลงทุน 52,000 ล้านบาท รองลงมา คือ สหรัฐฯ มูลค่าลงทุนรวม 25,500 ล้านบาท กลุ่มประเทศอาเซียน มูลค่าลงทุนรวม 12,300 ล้านบาท และกลุ่มประเทศในยุโรป มูลค่าลงทุนรวม 18,400 ล้านบาท ตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น