xs
xsm
sm
md
lg

เข็น 3จี เข้า ครม.เศรษฐกิจ "มาร์ค" กำชับ 2 ประเด็น กทช.ต้องทำให้ชัด!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"มารค์" เผยการประชุม ครม.เศรษฐกิจ พรุ่งนี้ เตรียมพิจารณานโยบายการพัฒนาระบบโทรศัพท์มือถือจี 3 เพื่อกำหนดทิศทางให้ชัดเจน แนะจับตา 2 ประเด็นหลัก ทั้งบทบาท "ทีโอที-กสท" และปัญหาการเปิดประมูล กทช.ต้องชัดทุกประเด็น ชั่งน้ำหนักระหว่างการแข่งขันในการเปิดประมูลใบอนุญาต 3 จี เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนสูง ซึ่งอาจเป็นการผลักภาระให้ประชาชน และการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยไม่ทำให้เอกชนรายใหญ่และทุนต่างชาติได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะขุมทัพย์นีมีผลประโยชน์มหาศาล ถูกวางกลไกให้สลับซับซ้อน แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำ ได้เปรียบเสียเปรียบ ขณะที่ "ทีโอที" ผวา "เอไอเอส" โยนทิ้งสัมปทานที่เหลืออีก 6 ปี ทุ่มเงินฮุบขุมทรัพย์ใหม่ ทำรัฐสูญเงินรายได้แสนล้าน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุม คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม. เศรษฐกิจ) วันที่ 14 ตุลาคม 2552 (พรุ่งนี้) จะพิจารณานโยบายการพัฒนาระบบโทรศัพท์มือถือจี 3 ของรัฐบาลว่า จะไปในทิศทางใด หลังจากที่ได้เสนอข้อสังเกตไปยังคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ การเปิดให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3 จี ของ กทช. อยากให้ กทช. คำนึงถึงภาพรวมที่ครอบคลุมถึงบทบาทของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ด้วย เพราะไม่ต้องการให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากปัญหาธุรกิจโทรคมนาคมมีมาโดยตลอด เพราะระบบของไทยใช้การสัมปทาน และดำเนินการเอง

สำหรับการประเปิดประมูลใบอนุญาตโทรศัพท์มือถือ 3 จี นั้น ขณะนี้มีหลายฝ่ายทักท้วง ดังนั้น กทช. จะต้องชี้แจงให้ชัดเจนและกระจ่างในทุกประเด็น เพราะห่วงการแข่งขันในการเปิดประมูลใบอนุญาต 3 จี เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนสูงให้กับ กทช.หรือรัฐนั้น จะเป็นการผลักภาระให้ประชาชนหรือไม่ รวมถึงจะต้องพิจารณาเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรมโดยไม่ทำให้เอกชนรายใหญ่และทุนต่างชาติได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งก็หวังว่า กทช. จะมีคำอธิบายที่ชัดเจนในการตัดสินใจของ กทช.

มีรายงานเพิ่มเติมว่า ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจ จะนำผลกระทบต่อทีโอที และ กสท จากการเปิดประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์มือถือ 3 จี ของ กทช. มาพิจารณาด้วย โดยทีโอทีแจ้งว่า หากบริษัท แอดวานซ์อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ประมูลได้ใบอนุญาต ก็จะทำให้เอไอเอสไม่ขยายการลงทุนในโครงข่ายเดิม แต่จะหันไปมุ่งเน้นการทำโครงข่าย 3จี แทน

ขณะที่สัญญาสัมปทานเอไอเอสเหลืออีก 6 ปี หรือสิ้นสุดในปี 2558 อีกทั้งเอไอเอสมีความพร้อมด้านการเงิน มีผลต่อการทำการตลาด และถ่ายโอนลูกค้าจาก 2จี ไป 3จี ได้ง่าย ซึ่งเมื่อไม่มีการขยายการลงทุน มีการถ่ายโอนลูกค้า ก็จะส่งผลต่อการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ทีโอที ซึ่งจะมีผลต่อฐานะการเงินของทีโอที และมีผลต่อเนื่องการนำเงินส่งรัฐด้วย ซึ่งในปี 2551 ทีโอทีได้รับรายได้จากเอไอเอส 19,000 ล้านบาท และจากการวิเคราะห์ คาดการณ์ว่ารายได้จากส่วนแบ่งรายได้จะหายไปถึงร้อยละ 50

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินโครงการ 3 จี ของทีโอที ขณะนี้ได้เร่งดำเนินการติดตั้งสถานีฐานระยะที่ 1 ซึ่งเป็นการปรับปรุงสถานีฐานเดิมของไทยโมบาย ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ 1900 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 533 สถานี และอุปกรณ์สัญญาในอาคารต่างๆ อีก 21 แห่ง ใช้เงินลงทุน 1,700 ล้านบาท มีเป้าหมายว่าจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 ธันวาคม 2552 นี้

ส่วนโครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ 3จี ในระยะที่ 2 มูลค่าการลงทุน 29,000 ล้านบาทนั้น กระทรวงไอซีที ได้แจ้งให้ ครม. ทราบว่า ทีโอทีจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ในการติดตั้งสถานีฐาน 3,802 แห่ง โดยจะใช้เวลาติดตั้ง 2 ปี แล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2555 โดยในปี 2553 จะมีลูกค้าใช้บริการ 500,000 เลขหมาย และเพิ่มเป็น 2.4 ล้านเลขหมาย และคาดว่าปี 2556 จะมีรายได้จากบริการ 3จี 8,000 ล้านบาท และปี 2559 มีรายได้ 18,000 ล้านบาท ลูกค้า 5 ล้านเลขหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น