xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด กสท ขู่เลิกทรูมูฟ ผิดสัญญาเบี้ยวส่วนแบ่งรายได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บอร์ด กสท ส่ง “จิรายุทธ” บี้ ทรูมูฟ หลังผิดสัญญาประจำ ไม่ว่าเป็นเรื่องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ไม่ครบ ไม่โอนทรัพย์สิน ขู่ หากดื้อแพ่งมีสิทธิเลิกสัญญา หวั่นถูกครหาเอื้อประโยชน์เอกชน ด้าน “ระนองรักษ์” เตรียมยกทัพหลวงทีโอที/กสท บุกประชาพิจารณ์ 3G

นายกฤษดา กวีญาณ กรรมการบริษัท กสท โทรคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ว่า บอร์ดได้มอบหมายให้ นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท ไปดำเนินการเจรจากับ บริษัท ทรูมูฟ เนื่องจากที่ผ่านมา ทรูมูฟไม่ปฏิบัติตามสัญญาร่วมการงานที่ทำไว้กับกสทหลายประการ เช่น การจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ กสท ไม่ครบตามสัญญา รวมทั้งทรูมูฟได้ประกาศไม่จ่ายค่าเชื่อมโยงโครงข่าย หรือ แอ็คเซ็สชาร์จ (เอซี) ให้ กสท แต่พอถึงกำหนดชำระค่าส่วนแบ่งรายได้ทรูมูฟกลับหักค่าใช้จ่ายเอซีออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องจ่ายประมาณ 25% ของรายได้

นอกจากนี้ ทรูมูฟยังไม่ทำการโอนเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ตามสัญญาร่วมการงาน ซึ่งเป็นสัญญาการสร้างโอนและให้บริการ (BTO) ซึ่งมีมูลค่ากว่า 2,700 ล้านบาท ทั้งนี้ หากยังไม่ได้รับข้อยุติในเรื่องดังกล่าว กสท อาจจะดำเนินการยกเลิกสัญญาร่วมการงานที่ทำกับทรูมูฟ

อย่างไรก็ตาม กสท ต้องการให้ข้อพิพาทกับทรูมูฟเสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด เนื่องจากในระหว่างการเจรจา กสท ก็จำเป็นต้องทบทวนเรื่องการต่ออายุสัญญาทรูมูฟออกไปอีก 5 ปี รวมถึงข้อตกลงให้ทรูมูฟทดลองบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ และการใช้วงจรเชื่อมต่อต่างประเทศ (เกตเวย์) ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ กสท ถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน

นายกฤษดา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา กสท ได้ดำเนินการฟ้องร้อง ทรูมูฟ 6 คดี ได้แก่ 1.เรื่องการโอนเสาสัญญาณโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ 2.การเรียกให้ทรูมูฟจ่ายเงินภาษีสรรพสามิตคืนหลังจากที่ ครม.ได้ยกเลิกเมื่อปี 2550 3.กรณีที่ทรูมูฟ ลดค่าเอซี 22 บาท จาก 200 บาทเหลือเลขหมายละ 178 บาท โดยยังไม่ผ่านการเจรจา กับ บริษัท ทีโอที 4.ไม่ยอมจ่ายค่าธรรมเนียมเลขหมายละ 1 บาท ให้กับ กสท รวมเป็นเงิน 104 ล้านบาท 5.ไม่จ่ายค่าเลขหมายพิเศษ 1331 มูลค่า 3.6 ล้านบาท และ 6.การฟ้องเรียกเบี้ยปรับจากการชำระส่วนแบ่งรายได้ล่าช้า 45 ล้านบาท โดยทั้งหมดอยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ

ขณะเดียวกัน ทรูมูฟได้ยื่นฟ้องศาลแพ่งกรณี กสท ไม่คืนหนังสือประกันรายได้ขั้นต่ำ เพราะกสท อ้างว่า ทรูมูฟไม่ยอมจ่ายส่วนแบ่งรายได้ครบตามสัญญา ซึ่งอยู่ระหว่างการไต่สวนของศาลแพ่ง

****ไอซีทีกลับลำไม่พบ กทช.*****
ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมว.ไอซีที กล่าวว่า จะไม่เข้าพบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรื่องขอให้ชะลอการประมูลไลเซนส์ 3G แล้ว เนื่องจากติดภารกิจเข้าร่วมประชุมอาเซียนที่ประเทศลาว แต่ไอซีทีก็จะยื่นข้อเสนอเป็นหนังสือไปให้ กทช.พิจารณาเพิ่มเติมแทนในเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับความมั่นคง เศรษฐกิจ และกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจไทย

อย่างไรก็ตาม การที่ กทช.จะเปิดประชาพิจารณ์ครั้งที่ 2 ในปลายเดือนนี้ ไอซีทีจะนำทีโอที และ กสท เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย และคาดว่า กทช.จะสามารถตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำประชาพิจารณ์ 3G ครั้งแรกรวมถึงข้อสงสัยของไอซีทีโดยเฉพาะเรื่องผลกระทบในด้านต่างๆรวมถึงการใช้วิธีการประมูลคลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรของประเทศว่ามีความเหมาะสมหรือไม่และหากสามารถประมูลได้ กทช.ต้องสามารถตอบได้ว่าราคาเริ่มต้นการประมูลคำนวณจากอะไร

**** กมธ.จวก “ระนองรักษ์” ชอบแต่งานสังคม****
เมื่อเวลา 11.00 น.ที่รัฐสภา นายอนันต์ วรธิติพงศ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจสาขาสื่อสารโทรคมนาคม วุฒิสภา กล่าวว่า อนุกรรมาธิการได้หยิบยกกรณีการบริหารงานของทีโอที และ กสท ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐ เพราะมีความเป็นห่วงว่าอนาคตอันใกล้นี้หากทั้งสองหน่วยงานไม่มีการปรับตัว ในที่สุดก็จะต้องปิดตัวลงเพราะล่าสุดกระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะเปิดบริษัทขึ้นแห่งหนึ่งเพื่อดึงรายได้จากทั้งสองบริษัทดังกล่าวมารวมกันหากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้ทั้งทีโอที และ กสท ต้องประสบภาวะขาดทุน

นายอนันต์ กล่าวด้วยว่า กรรมาธิการจะจัดทำข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลให้ภาครัฐ โดยกระทรวงการคลัง และกระทรวงไอซีทีต้องกำหนดบทบาทให้กับสองบริษัทใหม่ ว่า จะให้ดำเนินกิจการเพื่อความมั่นคงของชาติ หรือจะให้ทำธุรกิจเพื่อแข่งขันกับเอกชน หากจะดำเนินกิจการเพื่อความมั่นคงรัฐจะต้องเพิ่มสิทธิพิเศษในการทำงานให้กับทั้งสองบริษัท แต่ถ้าต้องการให้ทำการแข่งขันก็จะต้องทำให้ทั้งสองบริษัทบริหารงานได้อย่างคล่องตัว

นอกจากนั้น ยังต้องพิจารณาด้วยว่าการจะให้ดำเนินกิจการแข่งขันกับเอกชนนั้นจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 48(1) หรือไม่ รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้สองบริษัทดำเนินธุรกิจในลักษณะที่แข่งขันกันเอง เพราะทำให้มีการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ต้องวางแผนก่อนที่จะหมดอายุสัมปทานในอีก 5-6 ปีข้างหน้า ถึงเวลาแล้วที่ต้องรวมสององค์กรนี้ให้เป็นองค์กรเดียวกัน และเพิ่มความสะดวกความคล่องตัวในการทำงาน โดยไม่ควรให้การเมืองเข้าไปแทรกแซงการทำงานของบอร์ดทีโอทีและบอร์ดของ กสท

เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อมีการเปลี่ยนตัว รมว.ไอซีที ทุกครั้ง ก็จะต้องมีการเปลี่ยนตัวบอร์ดของทั้งสองหน่วยงานตามมา ทั้งนี้ กรรมาธิการจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลที่เกี่ยวข้องในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์คก่อนจัดทำข้อเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อเร่งดำเนินการต่อไป

เมื่อถามว่า หากจะให้ประเมินผลงานของ รมว.ไอซีที นายอนันต์ กล่าวว่า การทำงานค่อนข้างล่าช้า ไม่เน้นการพัฒนาโครงสร้าง หรือการบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ ทั้งที่ควรจะทำได้ดีกว่านี้ แต่กลับไปเน้นงานด้านสังคมมากเกินไป
กำลังโหลดความคิดเห็น