xs
xsm
sm
md
lg

กทช. ‘แก้เกี้ยว’ประชาพิจารณ์ 3G รอบ 2 ห่วงภาพยังไม่ชัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทช.ทนเสียงค้านรอบทิศไม่ไหว เปิดประชาพิจารณ์ 3G รอบ 2 หวังแจงรายละเอียดเรื่องต่างด้าว ราคาประมูล โครงสร้างการแข่งขัน ให้ชัดเจน คนในวงการชี้เป็นได้แค่ประชาพิจารณ์แก้เกี้ยว เพราะธงในใจกทช.ปลิวสะบัดว่าประมูล 3G ปลายปีนี้แน่นอน

นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร เลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ดกทช.เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมาได้มีข้อสรุปว่าจะมีการจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นสาธารณะเรื่องร่างหลักเกณฑ์ ข้อสรุป ข้อเสนอการจัดสรรคลื่นความถี่ไอเอ็มที หรือ 3G and beyond อีกครั้งประมาณปลายเดือนต.ค.นี้ เพื่อเป็นการจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมและเพื่อตอบคำถามจากการทำประชาพิจารณ์ครั้งแรกซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ก.ย.รวมถึง นโยบายที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีให้ไว้ในการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อบทบาทขององค์กรอิสระต่อการพัฒนาประเทศ ที่กทช.เมื่อวันที่ 5 ต.ค. และความเป็นกังวลของร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) อีกด้วย

อย่างไรก็ตามการทำประชาพิจารณ์ครั้งที่ 2 นี้จะเน้นเสนอรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องคุณสมบัติผู้ต้องการเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต 3G โดยเฉพาะการจำกัดความเป็นต่างด้าว ราคาเริ่มต้นประมูล ซึ่งหลายฝ่ายเป็นห่วงและถามถึงเรื่องนี้อย่างมาก รวมถึงประเด็นโครงสร้างการแข่งขันภายหลังจากการออกใบอนุญาต 3G ที่นายกรัฐมนตรีให้นโยบายไว้

‘การประชุมวันนี้ได้นำเรื่องความคิดเห็นจากการทำประชาพิจารณ์ครั้งแรก โดยเฉพาะเรื่องคุณสมบัติความเป็นต่างด้าว ราคาเริ่มต้นประมูล โครงสร้างอุตสาหกรรม และนโยบายนายกรัฐมนตรีที่ให้ไว้ในการแสดงปาฐกถารวมทั้งความเป็นห่วงของรมว.ไอซีทีเกี่ยวกับความอยู่รอดของ บริษัท ทีโอที และ บริษัท กสทโทรคมนาคม ซึ่งกทช.เห็นว่าสอดคล้องกับการทำประชาพิจารณ์ครั้งแรกที่ตอบไปแล้ว แต่เพื่อให้ทุกคำถามได้มีการอธิบายขยายความได้ชัดเจนขึ้นที่ประชุมจึงได้มีมติให้ทำประชาพิจารณ์ครั้งที่ 2 ’

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมกล่าวว่าที่ผ่านมาเป็นที่รับรู้ในวงกว้างว่าขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ ความเห็นหรือข้อเสนอต่างๆจากเอกชน มักไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร เหมือนกทช.มีธงอยู่ในใจในแต่ละเรื่องอยู่แล้ว ไม่เว้นแม้แต่เรื่อง 3G หรือการทำประชาพิจารณ์อีกครั้งซึ่งเหมือนเป็นการทำประชาพิจารณ์แก้เกี้ยว เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กทช.เดินตามแผนเดิมที่กำหนดไว้ และยากที่จะเปลี่ยนแปลง
กำลังโหลดความคิดเห็น