xs
xsm
sm
md
lg

3จี ถล่ม “ทีโอที-กสท” ล้มทั้งยืน “ระนองรักษ์” พล่านสัมปทานหาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กทช.เร่งจัดสรรคลื่นความถี่-พัฒนากิจการโทรคมนาคมไทย เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ขณะที่กลุ่มทุนเก่าพล่านชักใยพรรคร่วมหลังสถานการณ์เปลี่ยน รมว.ไอซีที ลั่นโดดขวางการประมูล 3G โวย กทช.ปิดกั้น ทีโอที-กสท หวั่นเอกชนฮุบคลื่นเกลี้ยงกระทบรายได้สัมปทานหด

พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยว่า ตลอด 5 ปีที่ กทช.ได้รับการจัดตั้งขึ้นมา ได้จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม ตามนโยบายส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันโดยเสรี อย่างเป็นธรรม และเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเผชิญภาวะวิกฤต แต่โทรคมนาคมไทยยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทต่างๆ ถึง 219 ราย

โดยในส่วนของบริการโทรศัพท์ขั้นพื้นฐาน มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจากปี 2547 ถึงกว่า 7.4 ล้านเลขหมาย โทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นเกือบ 40 ล้านเลขหมาย ส่วนภารกิจที่เร่งดำเนินการในขณะนี้ คือ การจัดสรรคลื่นความถี่ และการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3จี

ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เมื่อวานนี้ โดยระบุว่า การประชุมได้หารือถึงผลกระทบเรื่องการเปิดประมูลใบอนุญาต 3จี ของ กทช.ที่ปิดกั้นไม่ให้ทีโอที และ กสท เข้าร่วมประมูล แต่กลับเปิดกว้างให้ต่างชาติเข้าร่วมประมูล

ทั้งนี้ ที่ประชุมต้องการให้ กทช.ทบทวนเรื่องดังกล่าว เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทั้งสองหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องของรายได้ที่จะต้องปรับตัวลดลง จนอาจส่งผลให้รายได้ที่นำส่งกระทรวงการคลังปีละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ต้องลดลงไปด้วย ขณะที่บริษัทต่างชาติที่เข้าประมูล 3จี กลับได้ถือหุ้น 100% มีคลื่นความถี่เป็นของตนเอง ต่างกับการรับสัมปทานที่โครงข่ายและคลื่นยังเป็นของรัฐอยู่เช่นเดิม

อย่างไรก็ดี กระทรวงไอซีทีมีแนวคิดจะชะลอการประมูล 3จี โดยขอให้ กทช.คิดเรื่องนี้ไม่ให้มีการปิดกั้น ทีโอที และ กสท เพราะทั้งสองหน่วยงานก็มีศักยภาพเข้าร่วมประมูล 3จี ได้เช่นกัน ไม่ใช่ว่าจะไม่พร้อม ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการหารืออย่างวงกว้างในระดับผู้บริหารประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงได้มอบหมายให้ผู้บริหารทั้งสองหน่วยงานหารือกัน โดยวันที่ 5 ตุลาคม 2552 นี้ จะได้ความชัดเจนรายละเอียดในทุกเรื่อง

นายธีรวุฒิ บุณยโสภณ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ทีโอที กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการประมูล 3จี บนคลื่น 2.1 กิกะเฮิรตซ์ มีอย่างแน่นอน โดยส่วนแบ่งรายได้ที่ได้รับจาก บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เฉลี่ยปีละ 20,000 ล้านบาท หายไปแน่ๆ ซึ่งเงินส่วนนี้เป็นเงินที่ทีโอทีนำส่งรัฐ

อย่างไรก็ดี ไม่ควรให้บริษัทต่างประเทศยึดคลื่นความถี่ ควรเป็นสมบัติของคนไทย ทั้งนี้รัฐบาลควรเข้ามาควบคุมจุดนี้ ไม่ใช่ว่าใครให้เงินสูงสุดก็มอบใบอนุญาตให้กับรายนั้น เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น จะเกิดภัยพิบัติมากกว่าโอกาส ควรศึกษาให้รอบคอบเพราะเกิดปัญหากับหน่วยงานของรัฐ ขณะที่เอกชนจากต่างประเทศใช้เงินลงทุนภายในปีเดียวก็ได้เงินคืนกลับประเทศตนเองแล้ว

นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท กล่าวว่า ไม่อยากให้ กทช.จำกัดสิทธิ์เข้าร่วมประมูล 3จี ของทีโอที และ กสท
กำลังโหลดความคิดเห็น