xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ห่วง 3G แท้ง "บิ๊กทรู" อัดวิธีแข่งราคา กทช.สรุปวันพุธนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกฯ ห่วง 3G แท้ง เชื่อการเปิดประมูลภายในปีนี้ เหมาะสมแล้ว แนะสร้างความชัดเจน "ทีโอที-กสท" ขณะที่ กทช.หารือพุธนี้ ทบทวนเกณฑ์การประมูลใหม่ ด้านผู้บริหาร TRUE เสนอปรับใช้วิธีการประมูลแบบบิวตี้คอนเทสต์ แทนการแข่งราคา เพราะอาจทำให้ผู้ชนะประมูล นำไปอ้างเหตุโขกราคากับประชาชน

มีรายงานข่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "บทบาทขององค์กรอิสระต่อการพัฒนาประเทศ" ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ซึ่งพล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธาน กทช.ได้รายงานความคืบหน้าในการประมูลใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) เทคโนโลยี 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ

สำหรับแนวทางในการเปิดประมูลใบอนุญาต 3G นั้น นายกรัฐมนตรี เห็นว่า กทช. ควรจะดำเนินการตามกรอบเวลาที่ได้ระบุไว้ ทั้งนี้เกณฑ์ในการเปิดประมูลใบอนุญาต 3G จะต้องมีความชัดเจนและความคาดหวังว่า จะสามารถเดินหน้าในเรื่องดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วและเกณฑ์ที่ออกมาจะต้องมีความรอบคอบชัดเจนสามารถให้คำตอบในประเด็นท้วงติงต่างๆของผู้ที่เกี่ยวข้องได้ ทั้งนี้ หากโครงการ 3G สามารถเกิดขึ้นได้ก็จะเป็นปัจจัยบวกที่จะสร้างขีดการแข่งขันให้ประเทศไทย อีกทั้ง จะกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม หากเรื่องดังกล่าวมีความล่าช้าออกไปก็จะทำให้ประเทศสูญเสียโอกาส เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านก็จะมีความก้าวหน้าในโครงสร้างโทรคมนาคมไปอีกระดับหนึ่ง เพราะการพัฒนาเทคโนโลยี 3G เป็นเรื่องสำคัญและล่าช้าออกไปไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งหากเราล่าช้าไปกว่านี้ ก็ควรจะเลิกคิดเรื่อง 3G และหันไปพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงกว่านี้จะคุ้มค่ากับการลงทุนมากกว่า

"กทช.ควรกำหนดเกณฑ์การประมูล 3G อย่างเป็นธรรม ระบุเปิดทางให้ต่างชาติมากเกินอาจกระทบความมั่นคงภายในประเทศ ทั้งนี้ การออกเกณฑ์การประมูลใบอนุญาต 3G ที่ดำเนินการโดยกทช. จะต้องมีความเป็นธรรมและคำนึงความมั่นคงของประเทศและให้ความคุ้มครองผู้บริโภค โดยต้องมีนโยบายการกำกับดูแลที่ชัดเจน เนื่องจากโทรคมนาคมเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ"

ทั้งนี้ กทช. จะต้องมีการกำหนดเกณฑ์การประมูลเพื่อให้เกิดการแข่งขันมากที่สุด เนื่องจากระบบดังกล่าวจะเป็นหลักประกันที่ดีที่สุด ประกอบกับผู้ประกอบการภายในประเทศของไทยยังมีความเสียเปรียบในประเด็นความหนาแน่นของเงินทุน ซึ่งหากมีผู้ประกอบการเอกชนจากต่างชาติที่มีรัฐบาลของประเทศถือหุ้นอยู่ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายใน

นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ปัจจุบันสงครามในด้านข้อมูลข่าวสารถือว่ามีความรุนแรงมาก ทั้งกิจการวิทยุ โทรทัศน์และโทรคมนาคมที่มีการหลอมรวมกัน ขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้นได้ส่งผลให้ข้อมูลข่าวสารที่ถ่ายทอดออกมามีความแหลมคมมากขึ้น ขณะที่ปัญหาการเมืองในช่วงที่ผ่านมาได้มีการใช้สื่อช่องทางต่างๆจากเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าเป็นเครื่องมือ ซึ่งปัจจุบันการกำกับดูแลยังไม่มีขอบเขตที่มีความชัดเจน

***นายกฯ แนะปรับ "ทีโอที-กสท" สู่ยุคแข่งขัน

นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า การกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลใบอนุญาต 3G นั้น กทช.จะต้องมีความชัดเจน โดยเฉพาะการหาคำตอบว่ารัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง คือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จะอยู่อย่างไร หากเข้าสู่ยุค 3G คือจะให้อยู่ในฐานะผู้ประกอบการรายใหม่ หรือให้ปรับปรุงสัญญาสัมปทานเดิม

นายกรัฐมนตรี มองว่าเรื่องนี้มีแนวคิดที่หลากหลาย เป็นเรื่องยากที่ กทช.จะทำงาน ซึ่งมีความเป็นห่วง แต่ก็ขอให้เดินหน้าอย่างเต็มที่และให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด รวมทั้ง การคำนึงถึงราคาสูงสุดเพียงอย่างเดียวอาจเกิดความผิดพลาดขึ้น อาทิ ผู้ผู้บริโภคจะต้องใช้บริการาคาแพงได้รับความเดือดร้อน และภาครัฐเองก็จะต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลัง อาทิ การขอแก้ไขสัญญาสัมปทานจากภาคเอกชน เพราะไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาได้

พร้อมกันนั้น ยังอยากให้ กทช.มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการประมูล โดยจะต้องคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบารไทย เนื่องจากกำหนดให้แข่งขันที่ราคาสูงสุด อาจทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบบริษัทเอกชนต่างชาติ หรือรัฐวิสาหกิจต่างชาติที่อาจจะเข้าร่วมประมูลด้วย จึงต้องดูแลเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพราะสัมปทานโทรคมนาคมต้องคำนึงถึงความมั่นคง จึงควรดูแลให้เกิดความมั่นใจว่าไม่เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

"หวังว่าจะมีคำตอบที่ชัดเจนว่าเมื่อเข้าสู่ยุค 3G รัฐวิสาหกิจ 2 แห่งจะอยู่อย่างไร แต่ก็เข้าใจ กทช.ว่า 3G เป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องที่ควรจะเร่งรีบทำ เนื่องจากหากปล่อยให้เวลานานไปเทคโนโลยี 3G ก็จะล้าหลัง การลงทุนก็ตจะไม่เกิดผล หากล่าช้าก็ควรจะมองหาการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ดีกว่า อาทิ 4G หรือ 5G "

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กทช.ควรจะคิดให้รอบด้าน เพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์จำนวนมาก เพราะประเทศต้องการผู้กำกับดูแลที่ดี และผู้ใช้อำนาจที่มีอยู่อย่างเหมาะสม

***ผู้บริหาร TRUE ห่วงวิธีการประมูล ผูกเงื่อนโขกค่าบริการ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมจะเสนอให้ กทช. ปรับรูปแบบวิธีประมูลใบอนุญาต 3G เป็นแบบบิวตี้คอนเทสต์แทนการประมูลแข่งขันราคาตามที่ กทช.กำหนดไว้ เพราะการประมูลแข่งขันราคา เป็นการกำหนดแนวทางที่ผู้ที่ให้ราคามากได้ประโยชน์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคภายหลัง

ดังนั้น การออกแบบการประมูลต้องมีความชัดเจนในการให้ใบอนุญาต ต้องมีการกำหนดกติกา รูปแบบความเหมาะสม การลงทุน การให้บริการ รวมทั้งราคากลางที่เหมาะสม เพราะมีตัวอย่างแล้วว่าประเทศที่ประมูลใบอนุญาต 3G โดยใช้เกณฑ์ราคาสูงสุดอย่างเดียว อาทิ เยอรมัน และอังกฤษ ทำให้การพัฒนาโครงข่ายเป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งหากการกำหนดวิธีการประมูลใหม่ น่าจะทำให้การขยายโครงข่ายเร็วขึ้น

"เรายืนยันว่า ไม่ได้มีเจตนาที่ทำให้การประมูล 3G ล่าช้า และอยากให้เกิดโดยเร็วที่สุด แต่การกำหนดวิธีการประมูลใหม่ ก็ไม่น่าจะใช้เวลามากนัก ซึ่งภาครัฐควรคำนึงถึงต้นทุนทางสังคมด้วย เพราะตรงนี้เป็นสมบัติของคนทั้งชาติ อย่างน้อยก็ควรปกป้องการสัมปทานแล้วมาแสวงหากำไรจากประชาชนผู้ใช้บริการที่เป็นเจ้าของสมบัติของชาติ"

ทั้งนี้ กทช.จะมีการประชุมบอร์ดในวันที่ 7 ตุลาคม 2552 นี้ เตรียมสรุปเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ 3G ซึ่งรวมถึงหมายกำหนดการในการประมูล รวมทั้งจะสรุปเกี่ยวกับราคาต่ำสุดที่จะเปิดให้มีการประมูลกัน คือประมาณ 150-200 ล้านดอลลาร์ต่อไลเซนส์ (ซึ่งสูงกว่าที่ กทช.เคยให้ตัวเลขบรรทัดฐานไว้) โดยได้กำหนดในเบื้องต้นให้เปิดประมูลคลื่นความถี่ 3G และ 2.1G ในวันที่ 8 ธันวาคม 2552 นี้

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายคาดกันว่า ราคาประมูลจะสูงมาก เนื่องจากน่าจะมีผู้เข้าประมูลจากผู้ประกอบการปัจจุบัน 3 ราย แต่จะมีจำนวนไลเซนส์ 4 ไลเซนส์ที่จะเปิดให้มีการประมูล และการเปิดประมูลไลเซนส์ 3G นี้จะเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มสื่อสารเพราะจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการค่อยๆ ปลดภาระจากข้อจำกัดภายใต้สัญญาสัมปทานในปัจจุบัน

***กทช.พร้อมฟังทุกฝ่าย บอร์ดนัดถก พุธนี้

พล.อ.ชูชาติ ประธาน กทช. กล่าวภายหลังการหารือกับนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า กทช.ยินดีรับฟังทุกข้อเสนอของทั้งเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในวันพุธนี้ กทช.ได้นัดประชุม และจะนำข้อเสนอจากทุกฝ่ายมาหารือกัน รวมทั้งข้อชี้แนะจากนายกรัฐมนตรีด้วย โดยกรอบเวลาเปิดประมูลใบอนุญาต 3G ภายในสิ้นปีนี้ยังเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ทัน

ส่วนล่าสุดที่ รมว.ไอซีที่ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการไม่ให้สิทธิ ทีโอที และกสท.เข้าประมูลใบอนุญาต 3G นั้น ประธาน กทช.ก็ระบุว่าพร้อมจะรับฟังข้อเสนอจากทางรัฐวิสาหกิจด้วย

"ตอนนี้ราคากลางยังไม่ได้ออกมา แต่เชื่อว่าจะไม่สูงเกินไป เพราะถ้าสูงเกินไปก็พากันล่มจม ซึ่งบอร์ดก็ต้องมาคุยรายละเอียดอีกที และหากรัฐวิสาหกิจต้องการเสนออะไร ก็ขอให้บอก กทช.ทันที เราจะรับข้อเสนอของนายกฯ ไปศึกษาประกอบด้วย" ประธาน กทช. กล่าสรุปทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น