xs
xsm
sm
md
lg

เผย 1 ปี วิกฤต ศก.ไทยสูญ 8 แสนล้าน แนะรับมือ 5 ปัจจัยเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกฯ เผยรายงานผลกระทบ 1 ปี วิกฤต ศก. ไทยสูญเสียโอกาสเติบโตสูงถึง 8 แสนล้าน พร้อมชี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ได้แก่ เสถียรภาพทางการเมือง ความยั่งยืนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แนวโน้มราคาน้ำมัน การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 และทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า นับตั้งแต่เศรษฐกิจไทยเริ่มรับรู้ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในช่วงประมาณปลายไตรมาสที่ 3 ปีที่แล้ว และได้รับผลกระทบจริงไตรมาสที่ 4 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยถดถอยในระดับที่รุนแรงกว่าประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย โดยการผลิตในภาคอุตสาหกรรมดิ่งลงอย่างรุนแรง นำมาสู่การเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก และกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการเมืองในประเทศที่ยังไม่มีทางออกชัดเจน

หลังจากรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ได้มีการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาในหลายด้านเพื่อต่อสู้กับวิกฤติเศรษฐกิจถดถอย อาทิ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 เช่น การแจกเช็คช่วยชาติ โครงการ 5 มาตรการ 6 เดือน โครงการเรียนฟรี 15 ปี โครงการหลักประกันรายได้แก่ผู้สูงอายุ โครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงาน เป็นต้น นอกจากนี้รัฐบาลได้ใช้มาตรการทางภาษีและมาตรการด้านสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ประสบปัญหา ส่วนในด้านนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ลงมาจากร้อยละ 3.75 สู่ระดับต่ำสุดที่ร้อยละ 1.25 ในเดือนเมษายน 2552 และคงอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ จากความพยายามในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวบวกกับเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ในที่สุดเศรษฐกิจไทยก็สามารถหลุดพ้นจากภาวะถดถอยมาได้ในไตรมาสที่ 2 โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) กลับมาขยายตัวเป็นบวกเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยของไทยในรอบนี้ พบว่านับตั้งแต่เศรษฐกิจไทยเริ่มถดถอยมาจนถึงปัจจุบัน ตลอดช่วงเวลา 1 ปี ประเทศไทยสูญเสียโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจไปคิดเป็นมูลค่าสูงถึงประมาณ 800,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจไทย ขณะที่ส่วนที่มีน้ำหนักรองลงมาคือผลกระทบจากปัจจัยทางการเมือง ส่วนผลกระทบอื่นๆ อาจมาจากเหตุการณ์ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 และปริมาณพืชผลทางการเกษตรลดลง

สำหรับแนวโน้มในระยะข้างหน้า จากดัชนีความเป็นไปได้ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า โอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะ 3 เดือนข้างหน้า มีระดับเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาที่ร้อยละ 84 จากค่าเฉลี่ยที่ประเมินในเดือนก่อนหน้าที่ระดับร้อยละ 74 สะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายด้านที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ บทบาทของรัฐบาลจึงยังมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และเร่งผลักดันโครงการลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็งอย่างมีประสิทธิภาพ การสนับสนุนสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพทางการเมือง โดยปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ได้แก่ เสถียรภาพทางการเมือง ความยั่งยืนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แนวโน้มราคาน้ำมัน การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ฯ 2009 และทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น