xs
xsm
sm
md
lg

บจ.ผวาการเมืองจุดเสี่ยง ศก.สูงสุด ชี้ อายุรัฐบาลตัวแปรการลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้บริหาร บจ.กังวลปัญหาการเมือง ชี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สุดต่อธุรกิจใน 6 เดือนข้างหน้า ขณะที่ราคาน้ำมันขยับมาเป็นอับดับ 2 ส่วนผลกระทบ ศก.โลก หล่นไปอันดับที่ 3 ด้านแบงก์ชาติ เผยอายุรัฐบาล มีผลต่อการเดินหน้าการลงทุน และการประคับประคอง ศก.ระยะยาว ขณะที่ “เวิลด์แบงก์” เตือนรับมือโครงสร้าง ศก.โลกเปลี่ยนแปลง เงินทะลักเข้าเอเชีย-ผลกระทบบาทแข็ง

น.ส.เพ็ญศรี สุธีรศานต์ ผู้อำนวยการสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เปิดเผยผลสำรวจความเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน 120 บริษัท ใน 8 อุตสาหกรรมและตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 64 ของมูลค่าตลาดรวม พบว่า ผู้บริหารร้อยละ 69 ยังไม่มั่นใจว่าสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะต่อเนื่องถึงปี 2553 และร้อยละ 60 กังวลใจมากว่าเสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัจจัยเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งความกังวลขึ้นมาเป็นระดับที่ 1 จากการสำรวจครั้งก่อนที่อยู่ในอันดับ 2

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจกังวลเรื่องราคาน้ำมันถึงร้อยละ 31 ปรับขึ้นจากอันดับ 7 มาอยู่ในอันดับที่ 2 ส่วนอันดับ 3 คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนนโยบายไทยเข้มแข็งของรัฐบาล นักธุรกิจร้อยละ 85 ยอมรับว่ามีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับส่งออกในอีก 6 เดือนข้างหน้า นักธุรกิจถึงร้อยละ 67 มองว่าจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4 ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ ติดลบร้อยละ 2-4 ส่วนปี 2553 เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอยู่ที่ร้อยละ 0-2

ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้บริหารส่วนกลยุทธ์นโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ผลการสำรวจความเห็นสะท้อนว่า เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวแล้วและผ่านจุดต่ำสุดไปเมื่อช่วงไตรมาส 2 ทั้งการบริโภค การลงทุนและการส่งออกส่งสัญญาณในเชิงบวก ซึ่งจะช่วยเสริมการลงทุนภาครัฐ แต่ยังมีปัจจัยทางการเมืองที่ยังมีผลต่อเศรษฐกิจ ผลสำรวจถึงร้อยละ 56 มองว่ารัฐบาลจะบริหารประเทศต่อได้อีก 1 ปี ร้อยละ 28 บอกว่าอยู่ต่อได้ 2 ปี และร้อยละ 5 เชื่อว่า รัฐบาลจะอยู่ได้ 3 เดือน จึงเป็นสัญญาณที่ดีกับนักลงทุน เพราะหากรัฐบาลอยู่บริหารประเทศนานเท่าใด ก็จะสานต่อการลงทุนได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ การประคับประคองเศรษฐกิจในระยะยาวให้เติบโตต่อเนื่อง เพราะเมื่อรัฐบาลหมดงบประมาณในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องอาศัยแรงกระตุ้นจากภาคเอกชน รัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้เอกชนลงทุนทดแทนภาครัฐปีหน้า

น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก เห็นว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วและเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยคาดว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2552 จะหดตัวที่ร้อยละ 2.9 และจะขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 2 ในปี 2553 สำหรับเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 2 ในไตรมาสที่ 4 ส่งผลให้ทั้งปีหดตัวที่ร้อยละ 3 โดยภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้โครงสร้างเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนแปลงไป การบริโภคของสหรัฐฯ จะลดลง การแข่งขันทางการค้าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกของไทยลดลง

นอกจากนี้ สภาพคล่องของโลกจะเพิ่มขึ้นตามการออมที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนมาสู่ภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้น และนำมาสู่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น