xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.ผนึก กนอ.-บีโอไอ ดึงทุนไต้หวัน ชิงส่วนแบ่งเวียดนาม-มาเลย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส.อ.ท.จับมือ กนอ.-บีโอไอ จัดงานไทย-ไต้หวัน อีโคโนมิกส์ ฟอรั่ม 2009 เดอะบริดจ์ทูอาเซียน เร่งกระตุ้นการลงทุน ดึงนักธุรกิจไต้หวันเข้าไทยมากขึ้น พร้อมเปิดช่อง อิเล็กทรอนิกส์-พลังงานทดแทน ผ่านจุดแข็งอาเซียน หวังชิงส่วนแบ่ง เวียดนาม และมาเลเซีย

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ ) จัดงานไทย-ไต้หวัน อีโคโนมิกส์ ฟอรั่ม 2009 เดอะบริดจ์ทูอาเซียน ระหว่าง 4-6 สิงหาคม 2552 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-ไต้หวัน ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

นายสันติ คาดหวังว่า จะมีนักธุรกิจไต้หวันเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยมีโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พลังงานทดแทน โดยการประชุมครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจไต้หวันประมาณ 300 คน ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ไอซีที และ อาร์เอฟไอดี โดยนักธุรกิจไต้หวันให้ความสนใจลงทุนผลิตโซลาร์เซลล์ในประเทศไทย เนื่องจากมีวัตถุดิบมาก ปัจจัยการผลิตรวมทั้งปัจจัยพื้นฐานก็มีความพร้อม และไทยยังเป็นประตูเชื่อมการค้าในอาเซียนได้ รวมทั้งอาเซียนยังมีข้อตกลง อาเซียน +3 และ +6 ที่เป็นประโยชน์อย่างมาก

นายสรยุทธ์ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา บีโอไอ เปิดสำนักงานส่งเสริมการลงทุนที่กรุงไทเป เพื่ออำนวยความสะดวกชาวไต้หวันที่มาลงทุนในไทย ปัจจุบันนักลงทุนไต้หวันมีมูลค่าการลงทุนในไทยติดอันดับ 3-4 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่สนใจลงทุน ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ไบโอเทค ซึ่งไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งทำให้ประเทศไทยขยายการค้าได้ดี

“ขณะนี้ประเทศไทยโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานภายใต้กำกับดูแลทั้งบีโอไอ กนอ.รวมถึง ส.อ.ท.ร่วมกันดึงดูดนักลงทุนไต้หวันมาลงทุนในไทย เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ส่งผลกระทบทั่วโลกและไต้หวันก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทำให้มีการปรับตัวหาแหล่งลงทุนใหม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการจ้างงานในไต้หวันก็ลดลง”

ดังนั้น ไทยต้องปรับตัวให้พร้อมรองรับการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ เพราะมีประเทศคู่แข่งที่ดึงดูดนักลงทุน เช่น เวียดนาม และมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม นักลงทุนไต้หวันมองไทยเป็นศูนย์กลางของอินโดจีน หากเข้ามาลงทุนในไทยก็จะใช้ไทยเป็นสะพานค้าขายในอาเซียนและอินโดจีน รวมถึงใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่ไทยทำกับหลายประเทศอีกด้วย

นางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ปีที่แล้วนักลงทุนไต้หวันเข้ามาลงทุนไทยรวม 45 โครงการ เม็ดเงินลงทุนรวมประมาณ 7,394 ล้านบาท ส่วนครึ่งแรกปี 2552 นักลงทุนไต้หวันยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 11 โครงการ มูลค่า 616 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วค่อนข้างมาก

โดยครึ่งแรกปี 2551 มีการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนถึง 26 โครงการ มูลค่า 3,499 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บีโอไอจะพยายามรักษาระดับการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนไต้หวันให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยอุตสาหกรรมที่สนใจเข้ามาลงทุน ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร อาหาร ไบโอเทค ซึ่งแนวโน้มการเข้ามาลงทุนดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น