xs
xsm
sm
md
lg

กลต.จี้แยกพอร์ตโบรกฯหวั่นคลุมเครือไม่โปร่งใส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.ล.ต.เสนอแนะตลาดหุ้น แยกข้อมูลพอร์ตโบรกเกอร์ออกจากกลุ่มสถาบัน และการคิดคำนวณมาร์เกตแชร์ ชี้เพื่อความชัดเจน-โปร่งใสแก่ผู้ลงทุน หลังครึ่งปีแรกวอลุ่มพอร์ตวิ่งหวือหวา ส่วนแผนพัฒนาตลาดทุน 8 มาตรการ คาดสามารถบังคับใช้ได้ในปีหน้าอย่างน้อย 2 เรื่อง มั่นใจถ้าทำได้ใน 5ปี ตลาดททุนโต 150% ของจีดีพี

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ คณะกรรมการกำบหลักทรัพย์ะละตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ทางก.ล.ต.ได้แจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พิจารณาปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์(บล.)ให้ชัดเจน โปร่งใส และเพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการการตัดสินใจลงทุนที่ทัดเทียมและมากเพียงพอ โดยเสนอแนะ 2 เรื่องคือ 1.ให้แสดงข้อมูลการซื้อขายเพื่อบัญชีการลงทุนของบล.แยกออกจากข้อมูลการซื้อขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ และ 2.ในการคำนวณส่วนแบ่งตลาดของบล. ควรแยกข้อมูลซื้อขายเพื่อบัญชีการลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์ออก

“ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ก.ล.ต. พบว่าบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งมีมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบัญชีบริษัทในสัดส่วนที่สูง แต่มูลค่าการซื้อขายดังกล่าวถูกนับรวมอยู่ในมูลค่าการซื้อขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ ซึ่งทำให้เข้าใจผิดได้ว่าบริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าวมีลูกค้ากลุ่มนักลงทุนสถาบันมาก จึงควรแยกตัวเลขออกต่างหาก" นายธีระชัย

**ตลท.หวังแผนพัฒนาฉลุย
นายวิรไท สันติประภพ รองผู้จัดการ สายงานพัฒนาและวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท. เปิดเผยว่า แผนพัฒนาตลาดทุนไทย จำนวน 8 มาตรการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอให้คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจพิจารณาในช่วงกลางเดือนกันยายนนั้น คาดว่าจะสามารถประกาศบังคับใช้ได้ภายในปี 2553 คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ซึ่งขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่ระหว่างการศึกษาในการออกฟิวเจอร์สอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ย และฟิวเจอร์สอ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยน การจัดตั้งระบบการออมเพื่อการชราภาพ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นได้เร็วจากการผลักดันของรัฐบาล การเปิดเสรีและเพิ่มประสิทธิภาพของสถาบันตัวกลาง เช่น การเปิดเสรีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.)และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)

อย่างไรก็ตาม หากมาตรการใดจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สามารถดำเนินการได้นั้น มองว่าจะต้องใช้เวลาในการแก้ไขนาน แต่หากเป็นเพียงการแก้ไขกฎกระทรวงนั้นจะใช้เวลาสั้นกว่า เพราะถ้าต้องแก้ไขกฎหมายที่ผ่านกระบวนการรัฐสภานั้นอาจจะต้องใช้เวลาเป็นปี เช่น ในเรื่องการแก้ไขกฎหมายการถือหุ้นต่างประเทศ การแก้ไขกฎหมายการควบรวมกิจการ การแก้ไขกฎหมายการลงโทษผู้กระทำผิดในเรื่องการสร้างราคาหุ้น ให้มีการลงโทษทางแพ่งทั้งหมด เพื่อให้สามารถลงโทษได้รวดเร็ว เพราะกระบวนการลงโทษทางอาญานั้นจะใช้เวลานานกว่า และบางรายอาจพ้นผิดได้

สำหรับการแก้ไขกฎหมายการถือหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศนั้น เพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศสามารถเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้สะดวกมากขึ้น นายวิรไท กล่าวว่า เพราะประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาต้องการเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาในการพัฒนาประเทศ จากปัจจุบันที่มีข้อจำกัดหลายด้าน โดยขณะนี้คณะทำงานอยู่ระหว่างการศึกษาช่องทางและรูปแบบที่เหมาะสม 2-3 ช่องทาง โดยจะเอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุนต่างประเทศที่ต้องการเข้ามาซื้อขายหุ้นเท่านั้น ไม่ได้มีความประสงค์เข้ามาซื้อเพื่อเป็นเจ้าของบริษัท

“แม้ปัจจุบันนักลงทุนต่างประเทศจะสามารถลงทุนผ่านบริษัท ไทยเอ็นดีวีอาร์ ได้ แต่การลงทุนผ่านไทยเอ็นวีดีอาร์ถือว่ายังไม่มีความโปร่งใสพอ และยังไม่ตอบสนองความต้องการของนักลงทุนต่างประเทศ จึงจำเป็นที่จะต้องหาช่องทางที่ตอบโจทย์ให้กับนักลงทุน โดยขณะนี้ดูอยู่ 2-3 ช่องทาง ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวถึงการปรับปรุงระบบภาษีในการพัฒนาตลาดทุนว่า เพราะ ที่ผ่านมานั้นเกณฑ์เรื่องภาษีทำให้สินค้าใหม่ๆไม่เกิด เช่น การออกประกันชีวิตแบบระบบบำนาญ การระดมทุนของศาสนาอิสลาม การยกเว้นภาษีกำไรจากเงินปันผลของการลงทุนผ่านกองทุนที่ลงทุนในหุ้น โดยขณะนี้ทางกรมสรรพากร ได้มีการเห็นชอบในหลักการแล้ว แต่จะต้องมีการแก้ไขกฎกระทรวง

ทั้งนี้ คณะทำงานได้มีการลงมติให้ดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทยใน 8 มาตรการต่อไป แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลในอนาคต โดยคณะกรรมการจะคอยติดตามแผนพัฒนาตลาดทุนอยู่ตลอด โดยแผน พัฒนาตลาดทุนไทยนั้นมีระยะเวลา 5 ปี (2551-2556) ซึ่งหากแผนดังกล่าวสามารถผลักดันออกมาได้จะส่งผลให้ขนาดตลาดทุนไทย (ตลาดหุ้น พันธบัตรรัฐและเอกชน กองทุน )เพิ่มเป็น 150% ของจีดีพี จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 70%ของจีดีพี และหากคิดเป็นการเติบโตเฉพาะตลาดหุ้นไทยจะโตปีละ 15-120% ต่อปี

“ส่วนตัวเชื่อว่าแผนพัฒนาตลาดทุนไทยจะเสร็จและประกาศบังคับใช้ได้ภายในสิ้นปีนี้ เพราะขณะนี้รอเข้าครม.เศรษฐกิจ และปัจจุบันถือว่ามีความคืบหน้าแล้วเสร็จประมาณ 90% แต่มีบางมาตรการที่จะต้องแก้กฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาก็จะใช้เวลานานอาจเป็นปี ซึ่งหากมาตรการไหนสามารถออกได้ก่อนก็จะมีการประกาศบังคับใช้ได้ทันที ”นายวิรไทย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น