xs
xsm
sm
md
lg

“ธาริษา” ควันออกหูสวนกลับ “ดร.โกร่ง” ใช้ความรู้สึกวัดค่าบาทแข็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธาริษา วัฒนเกส
ธาริษา โต้กลับ ดร.โกร่ง วิพากษ์ค่าเงินบาทแข็ง อย่าใช้ความรู้สึกวัดค่าเงินบาท พร้อมถามกลับ การออกมาพูดเช่นนี้ หมายความว่าอย่างไร ยืนยัน ธปท.ใช้นโยบายดูแลค่าเงินเหมาะสมแล้ว หวั่นกำไรแบงก์ครึ่งปีหลังลดลง หากสินเชื่อชะลอตัวและคุณภาพด้อย




นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ธปท.ไม่ได้บริหารจัดการค่าเงินบาทให้เหมาะสม ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง กระทบการส่งออกของไทย และนโยบายการเงินช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ โดยระบุว่า การออกมาพูดเช่นนี้ อยากเรียนถามกลับไปว่า ไม่เหมาะสมอย่างไร

นางธาริษา กล่วว่า ที่ผ่านมา ธปท.ดูแลให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มกับเงินสกุลภูมิภาค และประเทศคู่แข่ง เรื่องเงินบาทเอาความรู้สึกมาพูดไม่ได้ ต้องเอาข้อมูลมาดูกัน ยืนยันอีกครั้งว่าอย่าดูค่าเงินบาทเป็นรายวัน และอย่านำไปเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มที่จะแข็งค่า

ดังนั้น การพิจารณาค่าเงินบาทต้องเทียบกับคู่ค้า ซึ่งเงินบาทเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับเงินสกุลอื่นๆ มีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นบ้างแต่เป็นเพียงเล็กน้อย และหากเทียบกับบางสกุลเงินบาทแข็งค่าขึ้นน้อยกว่า และไม่ได้ทำให้ไทยเสียความสามารถทางการแข่งขันในภาพรวมของการส่งออก แต่หากพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรม ก็จะมีความแตกต่างกันบ้าง

“อยากเรียนถามว่าไม่เหมาะสมอย่างไร อยากให้ดูแลให้เกาะกลุ่มกับภูมิภาค เราก็ทำได้ เอาความรู้สึกมาพูดไม่ได้หรอก แต่ต้องนำเอาข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาประกอบกัน”

นางธาริษา ยืนยันว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาจากการที่ประเทศไทยเกินดุลการค้า และมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งก็เหมือนกับตลาดหุ้นในภูมิภาค ไม่ได้มีความผิดปกติ ไม่ได้เกิดจากการเก็งกำไร และไม่มีแก๊งป่วนบาท

“ค่าเงินบาทไม่ได้แข็งค่าจนสุดโต่ง จากต้นปีที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาเคลื่อนไหวที่ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในปัจจุบัน ยืนยันค่าเงินบาทที่แท้จริงไม่ได้ทำให้ไทยเสียความสามารถทางการแข่งขัน เพราะเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มกับเงินสกุลคู่ค้า”

ส่วนภาวะเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง นางธาริษา กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 2 หลายตัว มีสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้น ทั้งข้อมูลเศรษฐกิจจากสหรัฐ เช่น ตัวเลขการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น ดังนั้น หากไม่มีข่าวร้ายที่รุนแรง เช่น การล้มละลายของสถาบันการเงินเกิดขึ้นอีก เศรษฐกิจก็น่าจะดีขึ้น โดยปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินในไตรมาส 2 ที่ปรับตัวดีขึ้นจะเกิดขึ้นต่อเนื่องหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าปัจจัยทางการเมืองก็มีความสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจ หากการเมืองนิ่ง ประชาชน และนักลงทุน จะมีความเชื่อมั่น และมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

น.ส.นวพร มหารักขกะ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์ สถาบันการเงิน สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวถึงสถานการณ์ตลาดการเงินในประเทศ โดยระบุว่า แนวโน้มกำไรธนาคารพาณิชย์ในช่วงครึ่งปีหลัง มีโอกาสจะลดลงหรือไม่ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการขยายตัวของสินเชื่อเพราะรายได้หลักของธนาคารพาณิชย์มาจากการปล่อยสินเชื่อ

ดังนั้น หากสินเชื่อชะลอก็จะกดดันกำไรให้ลดลงได้ ขณะเดียวกันคุณภาพของสินเชื่อก็มีความสำคัญ หากสินเชื่อด้อยคุณภาพและไม่สร้างรายได้จริงก็ไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์คงต้องทำงานอย่างหนัก และวิเคราะห์คุณภาพของสินเชื่อเป็นหลัก

ส่วนทิศทางการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2552 ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย แต่ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่อง และเงินทุนสำรองเพียงพอในการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคเอกชนได้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ธปท.เห็นว่า หากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ภาคเอกชนก็สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้แน่นอน ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ต้องมีการแข่งขันระดมเงินฝาก เพราะในไตรมาส 2 เงินออมลดลงไป 200,000 ล้านบาท เนื่องจากมีการลงทุนในตราสารหนี้ และกองทุนรวม ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ต้องออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงขึ้น และเน้นไปที่กลุ่มเกษียณอายุ

ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในขณะนี้ ธปท.เชื่อว่ามาตรการของธนาคารพาณิชย์ในการควบคุมการเกิดหนี้เสียเป็นอย่างดีจึงทำให้คาดว่าเอ็นพีแอลจะอยู่ในระดับที่ดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่กระทบต่อการดำเนินงานของสถาบันการเงิน

สำหรับกำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ลดลงจากไตรมาสที่ 1 ประมาณ 3,000 ล้านบาท มาอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว โดยการปล่อยสินเชื่อขยายตัวเพียงร้อยละ 0.6 ชะลอลงจากไตรมาสที่ 1 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.8 ซึ่งสินเชื่อภาคธุรกิจหดตัวลงร้อยละ 2.4 ในทุกภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคก่อสร้างที่ลดลงร้อยละ 11.7 และภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 3.4

ส่วนในด้านเอ็นพีแอลในไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 ของสินเชื่อรวม โดยเอ็นพีแอลสูงสุดอยู่ในภาคการก่อสร้างที่มีเอ็นพีแอลอยู่ที่ร้อยละ 12.1 และภาคการบริการอยู่ที่ร้อยละ 11.4
กำลังโหลดความคิดเห็น