xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯชี้จีดีพีQ2ยังทรุด5.6-7% เอกชนกั๊กลงทุนรอมาตรการรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กสิกรฯประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 สัญญาณการฟื้นตัวยังไม่ชัด จากตัวเลขเศรษฐกิจโดยหลักๆในเดือนพ.ค.ยังคงทรุดตัวต่อเนื่อง แต่ยังได้รับผลดีจากเศรษฐกิจโลก-คู่ค้าที่เริ่มกระเตื้อง ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อภาคเอกชนขยับเพิ่ม คาดไตรมาสสองจีดีพียังหดตัว 5.6-7% จาก ไตรมาสแรกที่หดตัว 7.1%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินภาพในเบื้องต้นเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2 ปี 2552 ว่า จะยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะมีความรุนแรงน้อยกว่าการทรุดตัวที่เกิดขึ้นในไตรมาส 1/2552 เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2552 ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอ แม้จะเริ่มมีสัญญาณเชิงบวกจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะที่เกี่ยวโยงกับการส่งออกบ้างแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ คาดว่าอัตราการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 อาจอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 5.6-7.0 หลังจากที่หดตัวร้อยละ 7.1 ในไตรมาส 1 ปี 2552 โดยเศรษฐกิจไทยและความเชื่อมั่นของภาคเอกชนยังคงรอแรงกระตุ้นจากมาตรการของภาครัฐ และความต่อเนื่องของสัญญาณเชิงบวกจากเศรษฐกิจคู่ค้าในต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าน่าที่จะมีความชัดเจนมากขึ้นในระยะถัดไป

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาประกาศโดยธปท. ในภาพรวมสะท้อนให้เห็นถึงการใช้จ่ายในประเทศทั้งทางด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงไม่สามารถฟื้นตัวกลับมา เช่นเดียวกับการส่งออกที่ยังคงหดตัวในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สัญญาณเชิงบวกได้ปรากฏขึ้นในข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของอุปสงค์จากต่างประเทศ

ดังจะเห็นได้จากดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในเดือนพ.ค.ที่หดตัวลงอีกร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากที่หดตัวร้อยละ 5.3 ในเดือนเม.ย. โดยแม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากระดับราคาที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ แต่เครื่องชี้หลักของดัชนีการบริโภคยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่องสะท้อนความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคที่หดตัวร้อยละ 17.8 และภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ หดตัวร้อยละ 15.5 เป็นต้น ทั้งนี้ แนวโน้มที่อ่อนแอของเศรษฐกิจ และความกังวลต่อปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ ยังคงส่งผลกดดันความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สี่ มาอยู่ที่ระดับ 71.5 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2544 จากระดับ 72.1 ในเดือนเม.ย.

รวมถึง ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ในเดือนพ.ค.ที่หดตัวลงอีกร้อยละ 16.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งนับเป็นอัตราการหดตัวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 16.4 ในเดือนเม.ย. ทำให้สัญญาณการฟื้นตัวของภาวะการลงทุนของภาคเอกชนยังคงไม่มีความชัดเจนมากนัก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศยังคงมีความไม่แน่นอนในระยะถัดไป แต่สัญญาณเชิงบวกที่ทยอยปรากฏขึ้นทั้งในและต่างประเทศเป็นปัจจัยที่ช่ วยหนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 45.4 ในเดือนพ.ค. 2552 จากระดับ 39.2 ในเดือนเม.ย. ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 50.2 ในเดือนพ.ค. 2552 ซึ่งนับว่าเป็นการปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 50.0 เป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน

ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนพ.ค.หดตัวลงร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 9.7 ในเดือนเม.ย. และรายได้เกษตรกรดิ่งลงถึงร้อยละ 29.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากที่ลดลงร้อยละ 10.0 ในเดือนเม.ย.

และการส่งออกทรุดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 โดยหดตัวลงร้อยละ 26.5 เทียบกับช่วยเดียวกันของปีก่อน หลังจากที่หดตัวร้อยละ 25.2 ในเดือนเม.ย. ขณะที่การนำเข้าหดตัวลงอีกร้อยละ 34.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหลังจากที่หดตัวร้อยละ 36.4 ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น