xs
xsm
sm
md
lg

ThaiBMA ชง 4 ข้อ พัฒนาตลาดบอนด์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บอร์ดสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เห็นชอบ 4 มาตรการ ส่งเสริมธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน หนุนพัฒนาตลาด เสริมสภาพคล่อง หวังรองรับธุรกรรมที่เติบโตกว่า 4 เท่า เผยร่วมหารือกลุ่มเอเชียแปซิฟิก หาแนวทางพัฒนาตลาดบอนด์ ลงความเห็นเน้นดึงสถาบันเข้ามาในตลาดมากขึ้น

นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบในมาตรการส่งเสริมธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน (Private repo) ที่เสนอโดยคณะอนุกรรมการเร่งรัดพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทย โดยเห็นว่า การพัฒนาตลาดซื้อคืนจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพิ่มสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ไทย และเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารความเสี่ยงในการลงทุน

โดยปัจจุบันมูลค่าธุรกรรม Private repo เฉลี่ยต่อวันช่วงครึ่งแรกปี 2552 เท่ากับ 7,100 ล้านบาทต่อวัน สูงขึ้นกว่า 4 เท่าจากปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าเฉลี่ยต่อวันเพียง 1,600 ล้านบาท แต่ธุรกรรมนี้มีสัดส่วนเพียง 10% ของมูลค่ารวมการซื้อขายในตลาดตราสารหนี้เท่านั้น หรือเพียง 3% เมื่อเทียบกับธุรกรรม Bilateral Repo ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ที่พัฒนาแล้ว Repo จะมีมูลค่ากว่า 2 เท่าของการซื้อขายแบบปกติ

ทั้งนี้ จากการประชุมหารือในคณะอนุกรรมการได้สรุปปัญหาอุปสรรคที่ทำให้ธุรกรรม Private repo ยังไม่เติบโตเท่าที่ควร คือ 1.มาตรฐานและแนวปฏิบัติของตลาด 2.กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกรรมของนักลงทุนประเภทต่างๆ โดยเฉพาะกองทุนรวม 3.สภาวะตลาดที่นักลงทุนมีทางเลือกอื่นในการบริหารสภาพคล่องระยะสั้น และ 4.ปัจจัยพื้นฐานที่จะรองรับการเติบโตของธุรกรรม

ดังนั้น คณะอนุกรรมการ ThaiBMA จึงเสนอมาตรการหลัก 4 ประการในการผลักดันการพัฒนาตลาดดังกล่าว คือ 1.การขยายฐานผู้ลงทุนกลุ่มใหม่ๆ โดยมุ่งเป้าไปที่นักลงทุนที่มีศักยภาพสูง คือกลุ่มรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐ 2.การขจัดอุปสรรคในการลงทุนของนักลงทุน ด้วยการปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการลงทุนของกองทุน 3.ThaiBMA จะเป็นตัวกลางในการประสานงานกับชมรม ACI เพื่อจัดทำ Market convention ให้ผู้ร่วมตลาดมีแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และ 4.การผลักดันให้มีการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ศูนย์กลางการให้ยืมหลักทรัพย์ และการหารือกับ TSD ให้ขยายบริการให้ครบวงจรรวมถึงปรับค่าบริการให้จูงใจผู้ร่วมตลาดรายใหม่ๆ

นายณัฐพล กล่าวถึงทิศทางการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของไทย หลังเข้าร่วมประชุมกับผู้แทนทั้งภาครัฐและเอกชนจากหลายประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก ที่ประเทศสิงคโปร์ ว่า ทุกประเทศในกลุ่มภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก มองตรงกันในเรื่องของความสำคัญของตลาดตราสารหนี้ที่จะต้องเติบโตขึ้นในอนาคต โดยได้ยกกรณีศึกษาของมาเลเซีย และไทย ให้ที่ประชุมรับฟัง ซึ่งประเด็นหลัก คือ การพยายามส่งเสริมให้มีนักลงทุนสถาบันเข้ามาในตลาดตราสารหนี้กันมากขึ้น โดยเฉพาะกองทุนต่างๆ เพราะถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ อย่างที่ชิลีจะมีสัดส่วน 50-60% ของ GDP แต่ถ้าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษ สัดส่วน 200% ของ GDP ส่วนของไทยอยู่ที่ 40% ของ GDP ถือว่าไม่น้อย แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะพัฒนาให้ขยายเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น