xs
xsm
sm
md
lg

ThaiBMAเล็งเก็บค่าฟีกองตราสารหนี้ ชดเชยรายได้ที่สูญไปหลังงดเก็บค่าต๋งหุ้นกู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาคมตราสารหนี้ไทยมาแปลก "บลจ.-แบงก์-ประกัน" ใช้ข้อมูลอ้างอิงราคา mark-to-market เก็นค่าต๋งรายชื่อละ 5 บาทต่อวัน ระบุต้องหาช่องชดเชยรายได้ที่สูญไป 10 ล้านบาท หลัง ก.ล.ต. ขอลดภาระต้นทุนออกหุ้นกู้ ย้ำอัตราที่เรียกเก็บ ไม่เป็นภาระถึงนักลงทุนรายย่อย เหตุค่าใช้จ่ายต่ำ คิดเป็น 0.0001% ของค่าธรรมเนียมอื่นๆ

นายณัฐพล ชวลิตชีวิน
นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ทางสมาคมฯจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการอ้างอิงตราสารหนี้สำหรับการ mark-to-market และการใช้ข้อมูลของหรือบทวิเคราะห์กับผู้ที่ใช้บริการกับทางสมาคม เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ธนาคาร หรือบริษัทประกันภัย เป็นต้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการหารือกับทางสมาคมฯว่า จะปรับลดต้นทุนการออกตราสารหนี้เพื่อเป็นการลดภาระให้กับผู้ออกตราสาร ซึ่งการงดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวทำให้รายได้ของสมาคมฯ ลดลงกว่า 10 ล้านบาท

ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมที่ทางสมาคมจะเรียกเก็บจากบลจ.นั้น จะคิดเป็นรายชื่อละ 5 บาทต่อวัน หรืออาจจะน้อยกว่านี้ ซึ่งได้ทำโปรโมชั่นให้ทางผู้ที่ใช้ข้อมูลได้เลือกเองว่าจะใช้โปรโมชั่นไหน โดยทางสมาคมฯได้ทำการประเมินไว้แล้วว่า บลจ.จะใช้ข้อมูลเพียงไม่กี่รายชื่อเท่านั้น คาดว่าค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บนั้นจะไม่ส่งผลกระทบกับทางกองทุนเท่าไรนัก

“ค่าธรรมเนียมที่เราเรียกเก็บกับสถาบันที่ใช้ข้อมูลของเรา ถือว่าน้อยมาก คิดเป็น 0.0001% ของค่าธรรมเนียมอื่นๆของกองทุน หากเทียบกับอากรแสตมป์แล้วค่าฟรีของเราก็น้อยกว่ามาก ซึ่งถือว่ายังไม่ถึง 1% เลย” นายณัฐพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากบลจ.นั้น ทางสมาคมมองว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าธรรมเนียมที่บลจ.เรียกเก็บจากนักลงทุนแน่นอน เนื่องจากค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บนั้นราคาต่ำกว่าเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆของกองทุน

นอกจากนี้ นายณัฐพล กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมาบลจ.ได้เปิดขายกองทุนตราสารหนี้เกาหลีใต้เป็นจำนวนมาก หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศปรับตัวลดลงและผลตอบแทนของกองทุนตราสานหนี้ในประเทศก็ปรับลดลง ทำให้หลายบลจ.ต้องมองหาตราสารหนี้ต่างประเทศเพื่อให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า แต่ในขณะเดียวกันตนมองว่า อยากให้บลจ.หันมาให้ความสำคัญกับกองทุนตราสารหนี้ในประเทศไทยบ้าง ถึงแม้ว่าผลตอบแทนจะไม่น่าจูงใจ เพราะจะเป็นการช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากองทุนตราสารหนี้เกาหลีใต้เคยมีความเสี่ยง เนื่องจากบลจ.ไม่ได้ทำสัญญาสวอปเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ในปัจจุบันบลจ.ได้มีการป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวแล้ว ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่มีความมั่นใจในการลงทุน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่ากองทุนประเภทดังกล่าวจะไม่มีความเสี่ยง ซึ่งอยากให้นักลงทุนศึกษาข้อมูลการลงทุนให้ดีก่อนที่จะเข้าไปลงทุนไม่ว่าจะเป็นกองทุนประเภทใดก็ตาม

สำหรับการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนของนักลงทุนสถาบันในช่วงครึ่งปีแรกนั้น มีการลงทุนในหุ้นกู้เพียง 17% เท่านั้น ซึ่งนักลงทุนสถาบันค่อนข้างระมัดระวังการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนค่อนข้างมาก ขณะที่เป็นนักลงทุนรายย่อยเข้าไปลงทุนในหุ้นกู้เอกชนถึง 83% ทำให้บริษัทที่จะออกหุ้นกู้เอกชนให้ความสนใจนักลงทุนรายย่อยเป็นพิเศษ

ส่วนแนวโน้มออกหุ้นกู้ใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปี คาดว่าภาคเอกชนยังคงระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี มีหุ้นกู้ภาคเอกชนออกมาแล้วเกือบ 220,000 ล้านบาท และในเดือนกรกฎาคม มีหุ้นกู้ที่เตรียมจะออกใหม่ถึง 38,000 ล้านบาท ดังนั้นทั้งปีคาดว่าน่าจะมีหุ้นกู้ใหม่รวม 300,000 ล้านบาท หรืออาจจะสูงถึง 320,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น