xs
xsm
sm
md
lg

น้ำไฟฟรีเข้า ครม.-รัฐแบกภาระเพิ่ม 1.2 หมื่น ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขุนคลังยันต่ออายุ 5 มาตรการ 6 เดือน เข้า ครม.วันพรุ่งนี้ ผอ.สศค.ห่วงกระทบภาระงบประมาณในช่วงวิกฤตรายได้ของรัฐบาล ระบุ มาตรการดังกล่าวไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรงแต่พยุงไม่ให้ชะลอตัวรุนแรงเท่านั้น ชี้ รถเมล์ รถไฟฟรี มีประโยชน์ชัด แต่น้ำไฟฟรีต้องลดเพดานการช่วยเหลือ เผย หากรัฐบาลต่ออายุค่าครองชีพถึงสิ้นปีต้องรับภาระเพิ่ม 1.2 หมื่นล้าน

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (14 ก.ค.) กระทรวงการคลังจะนำวาระการต่ออายุ 5 มาตรการ 6 เดือนช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ผู้มีรายได้น้อย เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้ให้การช่วยเหลือในการลดภาระค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพราะมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้จึงต้องเสนอให้ ครม.อนุมัติต่ออายุมาตรการนี้ให้ทันกับสถานการณ์

“จะขยายเวลาออกไปอีก 2 เดือนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2552 หรือ ขยายเวลาออกไปอีก 5 เดือนเพื่อให้ถึงสิ้นปี 2552 โดยจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการลดภาระให้กับประชาชน ขณะเดียวกันก็ต้องดูผลกระทบต่อภาระด้านการคลังด้วย” นายกรณ์ กล่าว

***ห่วงกระทบภาระงบประมาณ
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในส่วนของสศค.ที่รับหน้าที่ศึกษาผลกระทบในด้านผลดีผลเสียต่อมาตรการนี้ยอมรับว่ามีความกังวลในแง่ของภาระงบประมาณหากรัฐบาลมีนโยบายที่จะต่ออายุ 5 มาตรการ 6 เดือนออกไปอีก ซึ่งหากมาองในมิติของภาระเงินคงคลัง จะเห็นว่า ในช่วงที่รัฐบาลจัดเก็บรายได้ลดลงแต่มีภาระทางด้านรายจ่ายที่สูงขึ้นการใช้เงินงบประมาณในแต่ละครั้งจึงต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ

ซึ่งจากการศึกษาผลกระทบจาก 5 มาตรการ 6 เดือนที่รัฐบาลประกาศใช้ออกไปนั้น จะเห็นว่าผลที่เกิดขึ้นต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศนั้นเป็นเพียงแค่การพยุงไม่ให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงรุนแรงมากนัก มาตรการทั้ง 5 นี้ไม่ได้มีส่วนช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวมากมายอย่างมีนัยแต่อย่างใดการจะพิจารณาต่ออายุทั้ง 5 มาตรการหรือบางมาตรการต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลที่จะได้รับด้วย

“5 มาตรการ 6 เดือนที่ประกาศใช้ออกไปเป็นเสมือนการพยุงไม่ให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาลดลงดิ่งเหวเร็วขึ้นเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างมีนัยแต่อย่างใดไม่สามารถพลิกฟื้นให้เศรษฐกิจโตได้จากหน้ามือเป็นหลังมือ เป็นเพียงมาตรการที่รัฐบาลผลักดันออกมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะที่รายจ่ายสูงขึ้นเป็นการบรรเทาความเดือนร้อนให้กับประชาชนชั่วคราวเท่านั้น” นายสมชัย กล่าว

***6 เดือนรัฐรับภาระ 1.2 หมื่นล้าน

ผอ.สศค.กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการที่กระทรวงการคลังศึกษา และเห็นว่า สามารถช่วยเหลือและบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนเกิดประโยชน์ในระดับฐานรากอย่างแท้จริงมีตัวเลขออกมาชัดเจนว่าสามารถบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนได้จำนวนเท่าใดคือ มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และมาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟชั้น 3

ส่วนมาตรการน้ำประปาและไฟฟ้าฟรีนั้นเท่าที่ สศค.ได้ศึกษาข้อมูลจากครอบครัวผู้ที่มีรายได้น้อยจริงพบว่าครอบครัวที่มีการใช้หลอดไฟส่องสว่าง 2-3 ดวง พัดลม หม้อหุงข้าว ตู้เย็นอย่างละ 1 เครื่อง พบค่าเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่เดือนละประมาณ 80-100 หน่วยเท่านั้น จึงเห็นว่ายังมีประโยชน์ต่อประชาชนกลุ่มนี้อยู่จึงเสนอให้ใช้มาตรการน้ำประปาและไฟฟ้าฟรีต่อไปแต่พิจารณาจำนวนหน่วยที่รัฐบาลรับภาระลงด้วย

“เรื่องการอุดหนุนค่าน้ำค่าไปกระทรวงการคลังได้เสนอไปว่าจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบนิดนึงเพื่อให้มาตรการที่ออกมาเกิดประโยชน์และช่วยเหลือประชาชนในระดับฐานรากได้อย่างแท้จริง ลดการอุดหนุนชนชั้นกลางและระดับบนที่มีกำลังใช้จ่ายลงเพื่อลดภาระงบประมาณของรัฐบาลลงด้วย” ผอ.สศค.กล่าวและว่า ส่วนการอุดหนุนค่าน้ำมันและก๊าซหุงต้มในครัวเรือนนั้นเห็นว่าควรจะปล่อยให้กลไกตลาดเป็นผู้กำหนดราคาที่เหมาะสมเอง

ทั้งนี้ หากถ้าขยายเวลามาตรการนี้ออกไปอีก 2 เดือนจะยังอยู่ในงบประมาณ 2552 แต่ถ้าถึงสิ้นปีก็จะเป็นภาระต่องบประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท และคาดว่า เศรษฐกิจในช่วงสิ้นปีจะเริ่มดี ทำให้ผลกระทบต่อปากท้องของประชาชนน่าจะลดลง

***สำนักงบระบุสภาพคล่องตึงตัว
นายบัณฑูร สุภัควนิช ผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังยังไม่ได้สอบถามเกี่ยวกับงบกลาง เพื่อจัดสรรไว้รองรับกับการขยายเวลา 5 มาตรการแต่อย่างใด และขณะนี้งบกลางปี 2552 ได้จัดสรรให้กับหน่วยงานต่างๆ ไปหมดแล้วตามที่ขอมา และสำนักงบเองจะต้องสำรองไว้ 3 เดือนกรณีฉุกเฉิน ไม่สามารถดึงส่วนนี้ไปใช้เพิ่มเติมได้ หากรัฐบาลจะขยายเวลามาตรการช่วยเหลือประชาชนก็อาจจะเป็นลักษณะให้รัฐวิสาหกิจกู้ยืมระยะสั้นก่อน แล้วรัฐบาลมาตั้งชดเชยงบประมาณให้ในภายหลัง ไม่ใช่เป็นการดึงงบกลางไป

“ขณะนี้ถือว่าสภาพคล่องตึงตัวมาก แม้ว่าจะเหลือเวลาเพียง 3 เดือนก่อนสิ้นงบประมาณ 2552 แต่วงเงินกู้ที่ได้รับจัดสรรตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉิน 4 แสนล้านบาทนั้นก็ยังไม่ได้กู้จริง เป็นเพียงแผนงานเท่านั้น ซึ่งหากสามารถกู้เงินเข้ามาได้ในเดือนตุลาคม ก็น่าจะลดความตึงตัวนี้ลงได้ เพราะงบประมาณรายจ่ายปี 2553 วงเงิน 1.7 ล้านล้านบาทนั้น เป็นงบลงทุนถึง 12.5% จึงต้องมีแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง เพราะจะเป็นงบลงทุนทั้งหมด” นายบัญฑูร กล่าว

สำหรับนโยบาย 5 มาตรการ 6 เดือน ของรัฐบาลที่จะสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคมประกอบไปด้วย 1.มาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาของครัวเรือน รัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายการใช้น้ำสำหรับบผู้ใช้น้ำประเภทที่อยู่อาศัยและผู้เช่าที่อยู่อาศัยที่มีปริมาณการใช้น้ำระหว่าง 0 ถึง 30 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน ซึ่งเป็นปริมาณการใช้ที่ตอบสนองความจำเป็นพื้นฐานของกลุ่มประชาชนผู้ใช้น้ำที่ รับบริการจาก กปน. กปภ.และ อปท.(ระบบประปาเทศพาณิชย์ ระบบประปาหมู่บ้าน และระบบประปาที่ดำเนินการในลักษณะพาณิชย์)

2.มาตรการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของครัวเรือน รัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน 3.มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสารประจำทาง รัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายค่าโดยสารรถประจำทางของ ขสมก.ประเภทรถโดยสารธรรมดาที่ให้บริการในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 800 คันใน 73 เส้นทาง 4.มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟชั้น 3 รัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายค่าโดยสารรถไฟชั้น 3 เชิงสังคม จำนวน 164 ขบวน และรถไฟชั้น 3 เชิงพาณิชย์ จำนวน 8 ขบวน และ 5.ชะลอการปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ในภาคครัวเรือน
กำลังโหลดความคิดเห็น