กมธ.คมนาคม ส.ว.เปิดโต๊ะแถลงข่าว คัดค้านเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน ระบุอัตราค่าเช่าเฉียด 5 พันบาทยังสูงเกินไป เมื่อเทียบกับการเช่ารถของ บขส.ที่คุณภาพดีว่า ติงเงื่อนไขวางเงิน 3.5 พันล้าน ส่อล็อกสเปกให้รายใหญ่ เตรียมข้อสรุปยื่นนายกฯ ให้ทบทวนอย่างจริงจัง อย่าเพียงแค่แสดงบทบาท หรือเอาใจพรรคร่วมเพื่อให้อยู่รอด เตือนความจำ ปชป.เคยคัดค้านแล้วจะมาร่วมผลักดันเอง
ที่หมู่บ้านวรบูลย์ ซอยอ่อนนุช 44 เวลา 12.00 น. วันที่ 24 พ.ค. สมาชิกวุฒิสภา ในคณะกรรมาธิการคมนาคม และคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน อาทิ นายจารึก อนุพงษ์ ประธาน กมธ.คมนาคมวุฒิสภา นายธวัช บวรวนิชยกูร เลขาธิการ กมธ.คมนาคม วุฒิสภา นายไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ ประธานกรรมาคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของ ประชาชน พล.อ.อ.ณพฤษภ์ มัณฑะจิตร นายธีระจิตต์ สถิโรตมวงศ์ และนางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ ร่วมกันแถลงข่าวคัดค้านการอนุมัติโครงการเช่ารถเมล์ที่ให้ก๊าซเอ็นจีวีขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 4,000 คัน ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ และมอบหมายให้ตั้งคณะกรรมการพิเศษพิจารณาค่าเช่ารถเมล์ต่อวันต่อคัน โดยมีกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และสำนักงบประมาณร่วมหารือใหม่ เนื่องจากกรอบวงเงินค่าเช่าที่ปรับลงเหลือ 4,780 บาทต่อคันต่อวันยังสูงเกินไป โดยให้นำเข้ารายงานต่อที่ประชุม ครม.ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า
นายธวัชกล่าวว่า ทางกรรมาธิการคมนาคมวุฒิสภาได้ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งทาง กมธ.เห็นด้วยกับโครงการว่าต้องดำเนินการ แต่ควรจะมีการเปิดกว้างในการให้ข้อมูล โครงการนี้มีกลิ่น มีความพยายามผลักดันอย่างต่อเนื่อง และถ้าหากทำถูกต้องค่าใช้จ่ายจะลดลง สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ก็ทราบเหตุผล ดึงเวลาไว้ แต่ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง การเช่ารถเมล์ 4 พันคัน ถ้าเทียบกับของบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) ที่มีเครื่องยนต์ใหม่กว่า ใหญ่กว่า มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากกว่า เอกชนทำสัญญากับ บขส.34 คัน ค่าเช่า 3 ปี ซ่อมบำรุงบวกเงินภาษีตก 3,700 บาทต่อคันต่อวัน แต่ของ ขสมก.4,780 บาทต่อคันต่อวัน รวมค่าอิเล็กทรอนิกส์ 157 บาท ค่าประกันภัย 31 บาท ซึ่งเทียบคุณภาพแล้วต่ำกว่า แต่ก็ยังแพงกว่า แถมยังดึงดันประมูลอยู่เจ้าเดียว ไม่เปิดให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้าร่วมประมูล แถมบอกต้องวางเงิน 3,500 ล้านบาท แล้วบริษัทไหนจะกล้ามา ซึ่งควรมีการแยกประมูลไปทั้ง 18 อู่ เพื่อให้เกิดกลไกการตลาด ทำทีโออาร์มาก็ไม่มีความโปร่งใส นี่กำลังจะทำให้ ขสมก.ล้มละลายหรือ แถมยังมีรัฐมนตรีบางคนบอกว่าบอกว่า หากบริหารจัดการไม่ได้ก็จะให้เอกชนดำเนินการ แสดงว่ากำลังจะโละให้เอกชน ใช่หรือไม่
นายธวัชกล่าวต่อว่า ทาง กมธ.คมนาคม วุฒิสภา ได้จัดทำข้อสรุปเพื่อเสนอให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ทบทวนกระบวนบวนการกันจริงๆ ไม่ใช่แค่แสดงบทบาท โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง อาทิ ขสมก.เป็นบริการสาธารณะ รถเมล์เป็นการคมนาคมของผู้มีรายได้น้อย อนาคตรัฐบาลจำเป็นต้องรองรับผู้มีรายได้น้อย จะทำให้มีรายได้ทันทีคงยาก และจะเอางบประมาณรายได้จากภาษีคนทั้งประเทศมาให้คน กทม.มันถูกต้องหรือไม่ ขอให้รัฐบาลโอน ขสมก.กลับให้ กทม.บริหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ กทม.ต้องดูแลคน กทม.เอง หรือ ขสมก.มีหน้าที่ดูแลในเส้นทางการเดินรถไม่ใช่ผู้บริหาร ขสมก.จะต้องกำหนดรถร่วมที่มีคุณภาพให้บริการทั่วถึง อย่างไรก็ตามเรื่องรูปแบบเราเห็นด้วย แต่เรื่องของการประมูลเราไม่เห็นด้วย ส่วนรูปแบบตั๋วใบเดียวเดินทางได้ทั่วกรุงเทพฯ ก็เห็นด้วย ถือเป็นรูปแบบที่ดี แต่ก็ต้องแยกประมูล เรื่องนี้อยากบอกว่า รัฐบาลอย่าทำตามคำเรียกร้องพรรคร่วมรัฐบาล เพียงเพื่อให้รัฐบาลได้อยู่ต่อเท่านั้น
ด้าน นายไพบูลย์ กล่าวว่า ทาง กมธ.รู้สึกแปลกใจที่หลายองค์กรภาคประชาชนทุกภาคส่วนได้มีการคัดค้านเมื่อได้กลิ่นไม่ดี แต่ก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมถึงได้พยายามทำเลยเกิน ตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้วจนมาถึงรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ที่ยังดึงดันในเรื่องนี้ ซึ่งทาง กมธ.ไม่เห็นด้วย และเรื่องนี้ประชาชนต้องมีส่วนร่วม
นางนฤมลกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องถามว่า ทำไมต้องทำสัญญาเช่าถึง 10 ปี ทำไมไม่ทำสัญญาเช่าครั้งและ 3 ปี แล้วมีกาประเมิน รัฐบาลมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินเชื่อว่าตรงนี้เกิดขึ้นแล้วความไม่เป็นธรรมาภิบาล ส่วนระบบ GPS ที่ติดตั้งบนรถเมล์ต้องถามว่าจำเป็นหรือไม่ วิ่งก็แค่ใน กทม.ทำไมต้องกลัวหลงทาง เรื่องนี้ต้องมาคำนวณกันใหม่หมด และต้องมาคำนวณด้วยว่าทำแล้วประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุดอย่างไร ผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ไม่ใช่ทำแล้วรัฐบาลอยู่ได้ เรื่องนี้พรรคประชาธิปัตย์เคยคัดค้านมาสมัยที่เป็นฝ่ายค้าน ทำไมเปลี่ยนมาเป็นผู้ผลักดันเสียเอง