xs
xsm
sm
md
lg

แฉสัญญารับประกันใกล้หมด รบ.เตรียมจ่ายค่าโง่"สุวรรณภูมิ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สนามบินสุวรรณภูมิต้องปิดซ่อมรันเวย์และแท็กซี่เวย์บางส่วนหลังจากเปิดให้บริการเพียงไม่กี่สัปดาห์
ASTVผู้จัดการรายวัน – สางทุจริตสุวรรณภูมิสุดอืด “บรรณวิทย์” ชี้การตรวจสอบล่าช้าส่งผลให้สัญญารับประกันงานใกล้หมดอายุ รัฐฯต้องควักจ่ายค่าซ่อมเองบานเบอะแน่ ไม่ว่าจะเป็นแท็กซี่เวย์ รันเวย์ หลังคาผ้าใบ เผยกลุ่มขั้วอำนาจเก่าทั้งฝ่ายการเมือง บอร์ด และผู้บริหารทอท.ต่างมีผลประโยชน์ทับซ้อน นั่งทับเรื่องกลบเกลื่อนความผิด ขณะที่ ป.ป.ช. ท่องคาถาต้องใช้เวลาควานหารายละเอียดอีกมาก 16 คดีทุจริตสุวรรณภูมิ ผ่านมา 2 ปีกว่ายังไม่คืบหน้าถึงขั้นแจ้งข้อกล่าวหาแม้แต่คดีเดียว

พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม และอดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาสนามบินสุวรรณภูมิ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการติดตามคดีทุจริตสนามบินสุวรรณภูมิว่า คดีความต่างๆ มีความล่าช้ามาก ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศชาติเสียหาย เสียประโยชน์ ที่ชัดเจนที่สุดคือ อายุสัญญารับประกันงานต่างๆ ใกล้จะสิ้นสุดลง ไม่ว่าจะเป็นแท็กซี่เวย์ รันเวย์ หลังคาผ้าใบ สุดท้ายรัฐต้องเป็นผู้ควักเงินจ่ายค่าซ่อมแซมเองแน่นอน ทั้งที่ความผิดต่างๆ หากกระบวนการตรวจสอบ ชี้มูลความผิด ทำได้เร็ว ภาระในส่วนนี้ฝ่ายเอกชนคู่สัญญาต้องรับผิดชอบ และเอาผิดกับผู้มีอำนาจที่ไปเอื้อประโยชน์ให้

“ทุกเรื่องที่คณะกรรมาธิการฯ เข้าไปตรวจสอบและขอให้แก้ไขยังไม่มีการทำอะไร นับตั้งแต่ความสะดวกเรื่องห้องน้ำ เป็นต้นไป แถลงบอกจะทำเพิ่ม แต่ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม”

พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าวต่อว่า กรณีรถเข็นกระเป๋าหาย มีการทุจริตชัด เพราะอุปกรณ์สิ่งของในสนามบินจะหายได้อย่างไรถ้าคนในไม่รู้กัน แต่ปัญหานี้กลับกลายเป็นโอกาสให้มีการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ เหมือนการฆ่าตัดตอน ส่วนเรื่องหลังคาผ้าใบ ตอนนี้ก็ยังมีปัญหา ฝนตกน้ำก็รั่วซึมและยังไม่ได้แก้ไข ขณะที่กรณีดิวตี้ฟรี คิงส์พาวเวอร์ ซึ่งตอนแรกตนเองยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลฎีกาฯ แต่ทางศาลให้กลับมาเร่งคดีที่ส่งไปให้คณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อน แต่ละเรื่องจึงดูเหมือนว่าไม่ไปถึงไหน

อดีตประธานคณะกรรมาธิการคมนาคมฯ กล่าวถึงสาเหตุที่คดีทุจริตสุวรรณภูมิไม่ได้รับการชำระสะสางอย่างที่ควรจะเป็นว่า เหตุผลหลักมาจากการสืบทอดอำนาจของกลุ่มขั้วอำนาจเก่าที่ยังคุมสุวรรณภูมิอยู่ เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนั้นคือ กลุ่มเนวิน ซึ่งมีสัมพันธ์อันดีกับอดีตรัฐมนตรีคมนาคมในสมัยรัฐบาลทักษิณ ส่วนคณะกรรมการ ทอท. (บอร์ด) และผู้บริหาร ส่วนหนึ่งก็เป็นกลุ่มคนที่อยู่ชุดที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกระทำความผิดมาตั้งแต่ช่วงเร่งก่อสร้างสนามบินสมัยทักษิณ ดังนั้นจึงกลายเป็นปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน เข้ามากลบเกลื่อนเรื่องที่ตนเองเคยมีส่วนร่วมทำผิดเอาไว้ หน่วยงานต่างๆ ที่เข้าไปตรวจสอบกรณีทุจริตสนามบินสุวรรณภูมิ จึงมักเจออุปสรรคเหมือนกันที่ไม่ได้รับความร่วมมือจาก บทม.

“ป.ป.ช.บอกว่าแต่ละคดีต้องการรายละเอียดอีกมาก สัปดาห์นี้ก็จะลงไปสอบอีก แต่ดูแล้วช้ามาก ใช้เวลานานมาก ความยุติธรรมที่ล่าช้าจะทำให้เกิดความไม่ยุติธรรม กรณีทุจริตสุวรรณภูมิที่ยื่นไป ป.ป.ช.นั้น ยื่นโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แต่ตอนนี้ผมเองกลับถูกฟ้องหมิ่นประมาท” พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าว

*** หลังคาผ้าใบใกล้หมดอายุ
อดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาสนามบินสุวรรณภูมิ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีทุจริตหลังคาผ้าใบสุวรรณภูมิ ว่ามีปัญหาการลดคุณภาพ แม้จะประกวดราคากันถูกต้องแต่แก้สเปกกันภายหลัง และลดระยะเวลาประกันของอายุผ้าจากมาตรฐานสากล 20 ปี เหลือเพียง 5 ปี เมื่อลดสเปกคุณภาพวัสดุมีอายุใช้งานแค่ 5 ปี ต้องซ่อมทุกครั้งเมื่อฝนตกน้ำรั่วซึม

การจัดซื้อจัดจ้างหลังคาผ้าใบติดตั้งที่อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาหลังคาผ้าใบฯ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาสนามบินสุวรรณภูมิ สนช. ตรวจสอบพบว่า วัสดุไม่ตรงกับสเปกที่ระบุไว้ในสัญญา แต่กลับไม่มีการอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ออกแบบ แถมยังว่าจ้างผู้ออกแบบเดิมเป็นเงินถึง 285 ล้านบาท มาอนุมัติแบบใหม่ภายหลังจากผู้รับเหมาได้แก้ไขสเปกอีกด้วย ซึ่งการอนุมัติแบบและติดตั้งเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก โดยไม่มีการตรวจสอบคุณภาพของวัสดุก่อน และแม้ว่าจะติดตั้งไปแล้วกว่า 30% แต่ผลการตรวจสอบคุณภาพจากห้องปฏิบัติการ (ผลแล็บ) ออกมาว่าไม่ได้มาตรฐาน ผู้มีอำนาจกลับไม่มีการระงับการติดตั้ง

ต่อมา เมื่อมีการติดตั้งเสร็จแล้ว ทาง บทม.จึงมีคำสั่งให้เปลี่ยนผ้าใบชั้นในทั้งหมดจาก 96 เบย์ เป็น 108 เบย์ ซึ่งเป็นคำสั่งที่ช้าร่วมปีหลังทราบว่าวัสดุผ้าใบที่ติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนหลังคาผ้าใบเพียง 17 เบย์เท่านั้น ผลจากการที่ใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐาน ผิดสเปก ทำให้หลังคาผ้าใบเริ่มเปลี่ยนสี ฉีกขาด มีปัญหาด้านความร้อน ทางคณะอนุกรรมาธิการฯ มีความเห็นว่า ต้องเปลี่ยนผ้าใบทั้งชั้นกลางและชั้นใน ซึ่งบริษัทไอทีโอ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเป็นผู้รับเหมา ส่วนความเสียหายเบื้องต้นประเมินไว้สำหรับการเปลี่ยนผ้าใบทั้งสองชั้น ประมาณ 2,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ตามสัญญาระหว่าง บทม.กับไอทีโอ ได้กำหนดให้ไอทีโอ จัดหาและติดตั้งผ้าใบหลังคา แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นนอกเคลือบเพื่อสะท้อนรังสียูวี ชั้นกลางเพื่อกักเสียงและกระจายความร้อน และชั้นในซึ่งถักทอจากเส้นใยเคลือบโซลาฟลอนพิเศษเพื่อกระจายแสง รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 2,400 ล้านบาท เริ่มติดตั้งตั้งแต่ปลายปี 2546 จากนั้นไม่นานก็ปรากฏร่องรอยความผิดปกติในตัวผ้าใบ ลายผ้าใบไม่สม่ำเสมอ มีจุดขาว บทม.สั่งให้แก้ไข ผู้รับเหมาได้ทำความสะอาด ทาสีทับรอยด่าง แต่ในที่สุด บทม.ก็สั่งให้รื้อถอนและเปลี่ยนผ้าใบใหม่เกือบทั้งหมดของอาคารเทียบท่าอากาศยาน เมื่อเดือนมิ.ย. 2548 เนื่องจากผลแล็บทั้งในและต่างประเทศ แสดงผลว่า ผ้าใบที่ติดตั้งชั้นในมีคุณภาพต่ำกว่าสเปกที่กำหนด

กรณีหลังคาผ้าใบฯ เป็น 1 ใน 16 คดีทุจริตสนามบินสุวรรณภูมิ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาสนามบินสุวรรณภูมิ (สนช.) ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว ดีเอสไอ ได้ส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการ โดยกล่าวหา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับพวก กระทำความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในการติดตั้งหลังคาผ้าใบอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของวัสดุ แก้ไขระยะเวลารับประกันวัสดุหลังคาผ้าใบ ภายหลังการลงนามในสัญญาแล้ว

คณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2552 ว่า การดำเนินการคดีดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว โดยมี ศ.ภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการไต่สวน

พล.ร.อ.บรรณวิทย๋ เก่งเรียน
กำลังโหลดความคิดเห็น