xs
xsm
sm
md
lg

บอนด์ไทยเข้มแข็งดอกสูง สบน.แย้มอาจเกิน 3.3% ให้คนละไม่เกิน 10 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สบน.แย้มเพิ่มดอกเบี้ยพันธบัตรลงทุนมากกว่า 3.3% มั่นใจล็อตแรก 3 หมื่นล้าน หลังแนวโน้มดอกเบี้ยเงินฝากปรับขึ้น เน้นขายผู้สูงอายุก่อนให้ประชาชนทั่วไป และหากความต้องการล้นอาจเปิดขายเพิ่ม กำหนดเพดานการซื้อไม่เกิน 2-10 ล้านบาท เพื่อกระจายให้ทั่วถึง ขณะที่พันธบัตรชดเชยเงินคงคลัง 1.5 แสนล้าน คลอดเดือน ก.ย.“นายกฯ-รมว.คลัง” ยันเงินกู้ถึงมือประชาชน ขณะที่ ส.ส.เพื่อไทย กล่าวหา “กรณ์” ใช้หน้าห้องทำกำไรจากการอินไซเดอร์หุ้น

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า หลังพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 จำนวน 4 แสนล้านบาท ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร สบน.เตรียมแผนกู้เงินภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ทันทีจำนวน 1.5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ใน 2 ด้าน คือ 1.2 แสนล้านบาท กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลการคลัง ส่วนอีก 3 หมื่นล้านบาท จะนำมาใช้เพื่อตามโครงการไทยเข้มแข็ง หรือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะกลางตามนโยบายของรัฐบาล

โดยเริ่มต้นการกู้จะเริ่มได้ตั้งแต่กลางเดือน ก.ค.52 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้เดิม ซึ่ง สบน.จะกู้ในรูปแบบพันธบัตรออมทรัพย์อายุ 5 ปี จำนวน 3 หมื่นล้านบาท จะเปิดให้ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ซื้อก่อนประชาชนรายอื่น 3 วัน โดยกำหนดเพดานการซื้อที่ไม่เกิน 2-10 ล้านบาท เพื่อกระจายให้ทั่วถึงทั้งประเทศ จากนั้นจึงจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาซื้อ

***เพิ่มกรีนชูหากจองเกิน 3 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ หากความต้องการพันธบัตรออมทรัพย์มีมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท จะพิจารณาเปิดวงเงินพันธบัตรเพิ่มเติม (กรีนชู) อีกจำนวนหนึ่งตามรายชื่อที่จอง เพื่อให้ประชาชนสามารถออมทรัพย์ในอัตราดอกเบี้ยสูงอย่างทั่วถึง ซึ่งขณะนี้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.3% แต่หากถึงวันกำหนดออกพันธบัตรออมทรัพย์จริงอัตราดอกเบี้ยอาจเพิ่มสูงขึ้นเพราะขณะนี้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเริ่มทยอยปรับขึ้นเห็นได้จากธนาคารพาณิชย์เริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

“ดอกเบี้ยจะเป็นขั้นบันได โดย 2 ปีแรกจะคงที่ซึ่งเบื้องต้นเริ่มต้นที่ 3.3% จากนั้นจะปรับขึ้นปีละ 0.5% ไปจนถึงปีที่ 5 ซึ่งรับประกันไว้ว่าดอกเบี้ยจะสูงถึง 5% แน่นอน ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุที่ต้องการดอกเบี้ยเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันได้รับผลตอบแทนที่ดี” นายพงษ์ภาณุ กล่าว

สำหรับวิธีจัดจำหน่าย จะเปิดให้ธนาคารที่มีสาขาทั่วประเทศมากกว่า 400 สาขาเข้ามาประมูล โดยจะเลือกธนาคารที่เสนอค่าบริหารจัดการต่ำอย่างน้อย 2 ธนาคารเป็นผู้จัดจำหน่ายและค้ำประกันการจำหน่าย

ส่วนการกู้เงินในส่วนที่เหลือซึ่งจะรวมถึง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 จำนวน 4 แสนล้านบาทด้วยนั้น ในไตรมาส 4 ของปีนี้จะกู้ 8 หมื่นล้านบาทเพื่อชดเชยเงินคงคลังเพิ่มเติม ส่วนการกู้เพื่อใช้ตามโครงการไทยเข้มแข็งจะกู้ไตรมาสละ 5 หมื่นล้านบาทไปจนจบอายุของ พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.กู้เงินฉุกเฉินในเดือน ธ.ค.53

โดยรูปแบบการกู้จะมีทั้งที่ให้นักลงทุนสถาบันเข้ามาประมูลซื้อพันธบัตรรัฐบาล กู้เงินจากธนาคารพาณิชย์โดยตรงซึ่งรูปแบบนี้จะเหมาะกับการลงทุนตามโครงการไทยเข้มแข็งเนื่องจากมีโครงการจำนวนมากถึง 6 พันโครงการ การเบิกจ่ายเงินไม่ตรงกันทำให้รัฐไม่ต้องมีภาระดอกเบี้ยหากยังไม่ใช้เงิน และรูปแบบตั๋วเงินคลัง

“การที่สภาผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทเหมาะสมกับฐานะการคลังในขณะนี้มาก เนื่องจากหากไม่ผ่านใน 1-2 เดือนนี้ รัฐอาจไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนข้าราชการและค่าน้ำค่าไฟสำนักงานแน่” นายพงษ์ภาณุ กล่าว

***“กรณ์” ยันเงินถึงมือประชาชน

ที่รัฐสภา นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 ในวงเงิน 4 แสนล้านบาท ว่า การประชุมในวันนี้ (16 มิ.ย.) ไม่มีอะไรน่ากังวล ตนมั่นใจ เนื้อหา พ.ร.บ.ที่จะพิจารณาในวันนี้มีรายละเอียดที่ชัดเจนไม่แตกต่างจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลัง ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วเมื่อวันก่อน สำหรับเงินที่กู้มานั้นจะนำไปดำเนินการตามโครงการไทยเข็มแข็ง ยืนยันว่า จะถึงมือของประชาชนอย่างแน่นอน

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าว ส.ว.จะคว่ำ พ.ร.ก.ดังกล่าวในชั้นของวุฒิสภานั้น นายกรณ์ กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วตนไม่เชื่อว่า ส.ว.จะมีธงคว่ำ พ.ร.ก.เพราะที่ผ่านมารัฐบาลพยายามชี้แจงให้รับทราบในรายละเอียดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงแผนการใช้งบประมาณ หลัง พ.ร.ก.กู้เงินผ่านความเห็นชอบต่อสภา ว่า การเดินหน้าตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจหรือปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง หลังได้รับความเห็นชอบ ซึ่งขณะนี้เพิ่งผ่านสภาผู้แทนราษฎร จะต้องไปผ่านวุฒิสภาในวันจันทร์ที่ 22 มิ.ย.เมื่อวุฒิสภาให้ความเห็นชอบสิ่งต่อไปกระทรวงการคลังจะไปดำเนินการเรื่องการกู้เงิน ซึ่งจะมีการทำในสองลักษณะ คือ 1.การออกพันธบัตร ที่จะมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนโดยทั่วไปสามารถเข้ามาซื้อได้และอาจจะมีการดำหนดขั้นตอน เช่นให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสก่อน 2.เป็นการกู้ยืมในระบบธนาคารเพื่อผสมผสานกัน ซึ่งตนได้ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาถึงเหตุผลที่ต้องทำรูปแบบผสมผสาน เพราะไม่ต้องการให้กระทบกระเทือนอัตราดอกเบี้ยในตลาดมากเกินไป ส่วนการใช้จ่ายเงิน ขณะนี้มีโครงการที่มีความพร้อมอยู่จะมีการดำเนินการไป โดยจะมีคณะกรรมการ ติดตามกำกับการใช้จ่ายเงิน ซึ่งมี นายพนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน และจะมีกาประชุมค่อนข้างถี่ เพื่อติดตามและดำเนินการเรื่องการใช้จ่าย ซึ่งจะมีการเปิดเผยข้อมูลในโครงการต่างๆที่เห็นชอบให้ดำเนินการ

เมื่อถามว่า ในส่วนของนายกฯ จะลงพื้นที่ตามโครงการไทยเข้มแข็งหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะมีเป็นระยะๆ เหมือนกับที่ตนได้ลงพื้นที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเวลานี้กำลังเตรียมในเรื่องโครงการอื่นๆ ด้วย เมื่อถามว่า งบประมาณ 4 พันล้าน จะอยู่ในส่วนไหนของโครงการไทยเข้มแข็ง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตรงนี้จะเข้าไปเติมในแผนรวม ส่วนไหนที่พร้อมจะอยู่ในยอดแรกด้วย ซึ่ง 2 เรื่องที่นำไปวิพากษ์วิจารณ์กันนี้ มีที่มาจากตน เหตุผลคือ โครงการแรก เป็นเรื่องของศูนย์เด็กเล็ก ตนย้ำหลายครั้ง แต่ปรากฎว่าช่วงที่ทำแผนขึ้นมาจากกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เนื่องจากเรื่องเด็กเล็กเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบหลายหน่วยงาน ทำให้ค่อนข้างจะหลุดไป เช่น กระทรวงศึกษาธิการไปทำเรื่องระบบโรงเรียนมาก ซึ่งตนเห็นว่า นโยบายเด็กเล็กเป็นเรื่องสำคัญขอให้รวบรวมทำมา และเรื่องท่องเที่ยวก็เป็นเรื่องที่ตนปรารภในที่ประชุมครม.เศรษฐกิจ เพราะเห็นว่า การฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวมีปัญหา ซึ่งการฟื้นฟูไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงท่องเที่ยว ฉะนั้นเวลาเราอยากจะฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวในเรื่องต่างๆ เกรงว่า จะไม่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานของกระทรวงท่องเที่ยวจึงให้ทางกระทรวงท่องเที่ยวกลับไปดูแง่โครงการฟื้นฟูการท่องเที่ยว ซี่งอาจจะอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงอื่น จึงมีเรื่องนี้เข้ามาไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการเมือง

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เงิน 4 แสนล้านบาท ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสภาพคล่องส่วนเกิน ตนมั่นใจว่า ถ้ารัฐบาลไม่ทำ เงินนี้ก็ไม่ได้ไปไหน ยังอยู่ในระบบธนาคารเฉยๆ เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ในชั้นวุฒิสภา ยังมีท่าทีขัดขวาง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องชี้แจงทำความเข้าใจ ตรงไหนที่สามารถจะมาทำความเข้าใจกันได้ ตนก็ยินดีอยู่แล้ว เป็นเรื่องธรรมดาที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ เท่าที่ฟังดูส่วนหนึ่งอาจมีความคิดที่แตกต่างในเรื่องเศรษฐกิจ อันนี้เป็นเรื่องปกติ อีกส่วนหนึ่งอาจจะมีความห่วงใยว่า เงินที่เอามา เอามาทำอะไร มีขั้นตอนในการติดตามตรวจสอบอย่างไร ซึ่งเรายินดีที่จะรับฟังแลกเปลี่ยน หากมีข้อเสนอแนะหรือจะเพิ่มการมีส่วนร่วมอะไรต่างๆ รัฐบาลยินดีรับฟัง แต่บางครั้งฟังดู อาจจะไปผูกกับบางโครงการ ซึ่งทางวุฒิสภาไม่เห็นด้วย ความจริงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูตรงนี้

***ฝ่ายค้านป่วน “กรณ์” อินไซเดอร์หุ้น

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่ค้างการพิจารณาเมื่อคืนวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยสมาชิกฝ่ายค้าน ยังคงอภิปรายโจมตีการตั้งงบประมาณของรัฐบาลที่ยังไม่มีรายละเอียด เป็นเพียงการจัดสรรในภาพกว้างๆ รวมไปถึงไม่มีการระบุที่มาของรายได้ที่จะนำมาชดใช้เงินกู้ดังกล่าว

บางตอนของการอภิปราย นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รมว.คลังใช้ประโยชน์จากการมีข้อมูลภายใน (อินไซเดอร์) หุ้นธนาคารสินเอเซีย (ACL) โดยอ้างว่า รมว.คลัง นำคนจากโบรกเกอร์เข้ามาทำงานให้กระทรวงการคลัง จึงอยากถามถึงความโปร่งใส พร้อมกล่าวหาว่า มี ส.ว.หญิงคนหนึ่งออกมาพูดถึงเรื่องเงินปากถุง ว่า ซึ่งหากเงินกู้ 8 แสนล้านบาทได้เงินปากถุงปีละ 1 เปอร์เซ็นต์ ก็จะได้ปีละ 8 พันล้านบาท 10 ปีก็จะได้ 8 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ นายกรณ์ จาติกวาณิช รมว.คลัง ชี้แจงว่า รู้สึกผิดหวังที่ฝ่ายค้านไม่หาข้อมูลให้มากกว่านี้ น่าจะทำการบ้านได้ดีกว่านี้ ไม่ใช่เอาข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ฉบับเดียวที่รายงานข่าวดังกล่าว แต่สุดท้าย บก.ของหนังสือพิมพ์นี้ก็ได้โทรศัพท์มาขออภัยในความคาดเคลื่อนของข่าวที่ลงไป ซึ่งตนก็ไม่ได้ติดใจ และไม่คิดว่าจะมีใครยกข่าวนี้มาพูดสภา และหากยังสงสัยก็สามารถยื่นฟ้องหน่วยงานต่างๆ ได้เลย

ส่วนกรณีเงินปากถุง ขอยืนยันว่า กระบวนการกู้เงินเป็นไปอย่างโปร่งใส การออกมากล่าวหาเช่นนี้สร้างความเสียหายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และควรมีหลักฐานมากกว่านี้ ขณะที่มองว่าการกู้เงินจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 169 เรื่องนี้มีการศึกษาและหยิบยก พ.ร.บ.วิธีพิจารณางบประมาณมาตรา 23 วรรคหนึ่ง เปิดโอกาสให้ใช้เงินด้วยวิธีการอื่นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น