xs
xsm
sm
md
lg

"รวงข้าว" เปิดสินเชื่อเพื่อโลกเขียว คิด ดบ.ต่ำ 1.45% ต่อปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธ.กสิกรไทย จับมือ สวทช. หนุนโรงงานติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียประสิทธิภาพสูง ใช้พลังงานต่ำ แถมให้ก๊าซชีวภาพเป็นผลพลอยได้ใช้เป็นเชื้อเพลิง คิดดอกเบี้ยต่ำ 1.45% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 30 ล้านบาท ผ่อนนาน 6 ปี

นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เป็นธุรกิจที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง และเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทย แต่ปัญหาสำคัญของกลุ่มธุรกิจดังกล่าว คือ โรงงานอุตสาหกรรมยังขาดระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ โดยหลายแห่งใช้วิธีการบำบัดน้ำเสียแบบบ่อเปิด ซึ่งสร้างมลภาวะทางอากาศและทางน้ำ ในขณะที่บางระบบต้องใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งเป็นภาระต่อผู้ประกอบการที่จะติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ

ดังนั้นธนาคารกสิกรไทย จึงได้ออกบริการสินเชื่อพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ (Tech Development Fund for Biogas) เพื่อให้การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่เอสเอ็มอีที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรและโรงงานอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ที่มียอดขายตั้งแต่ 50 ล้านบาทต่อปี และ/หรือมีพนักงานไม่เกิน 200 คน นำไปติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียและระบบผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์มจุลินทรีย์ไร้อากาศ (Anaerobic Fixed FilmReactor-AFFR) ด้วยวงเงินกู้สูงสุด 30 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 6 ปี

โดยธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ เท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน (MFI) ของธนาคาร (ปัจจุบันเท่ากับ 0.65%) บวก 2.25 หารด้วย 2 ซึ่งเท่ากับ 1.45%ต่อปีเท่านั้น ทั้งนี้ระบบบำบัดน้ำเสียและระบบผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์มจุลินทรีย์ไร้อากาศ (Anaerobic Fixed Film Reactor-AFFR) ร่วมกันพัฒนาขึ้นโดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพสูงที่เหมาะสำหรับโรงงงานในประเทศไทย เนื่องจากเป็นระบบปิด ใช้พลังงานในการเดินเครื่องต่ำ ไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่น และมีผลพลอยได้จากระบบบำบัดคือ ก๊าซชีวภาพที่มีมีเทนเป็นส่วนประกอบสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนการใช้น้ำมันเตาหรือก๊าซแอลพีจีในการผลิตพลังงานความร้อนหรือผลิตกระแสไฟฟ้าได้

นายปกรณ์ กล่าวว่า สินเชื่อพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ นอกจากจะส่งเสริมให้โรงงานมีระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนด้านพลังงานจากการนำก๊าซชีวภาพซึ่งเป็นผลพลอยได้ ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ธนาคารฯ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพไว้ประมาณ 500 ล้านบาท ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการสายตรงเพื่อลูกค้าธุรกิจ K-BIZ Contact Center 0-2888-8822 ตลอด 24 ชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น