ประธาน ธนส.แนะผู้ส่งออก เน้นทำตลาดเอเชียมากขึ้น ทั้งเกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย และ ลิเบีย ซึ่งมีกำลังซื้อสูงไม่แพ้ตลาดหลัก ขณะที่ จีน และอินเดีย ก็เป็นตลาดที่มาแรง เพราะมีข้อตกลงเอฟทีเอกับไทย ส่วนตลาดย่านอาเซียน มีอัตราภาษีนำเข้า 0% ก็เอื้อประโยชน์ต่อการส่งออก
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ EXIM BANK กล่าวว่า วิกฤตการเงินโลก ทำให้ภาครัฐและเอกชนต่างผลักดันให้เกิดการส่งออกไปยังตลาดใหม่ สำหรับตลาดใหม่หลายแห่งที่มีศักยภาพ ได้แก่ เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย และ ลิเบีย ซึ่งมีกำลังซื้อสูงไม่แพ้ตลาดหลัก ขณะที่ จีน และ อินเดีย เป็นตลาดที่กำลังซื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นโอกาสของผู้ส่งออกไทย
ส่วนตลาดที่เอื้อต่อการส่งออก ได้แก่ กลุ่มประเทศที่ทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับไทย อาทิ จีน อินเดีย และประเทศกลุ่มอาเซียน ที่ภาษีนำเข้าหลายรายการลดลงเหลือร้อยละ 0 รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้ทำเอฟทีเอกับไทย แต่ภาษีนำเข้าต่ำอยู่แล้ว เช่น ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไต้หวัน และ ลิเบีย
นายณรงค์ชัย กล่าวว่า หากพิจารณาโดยภาพรวมแล้ว จะพบว่าตลาดเอเชียเป็นความหวังที่สินค้าไทยไปเจาะตลาดโดยเฉพาะ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน รวมทั้งประเทศในอาเซียน อย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ ซึ่งยังต้องการสินค้าหลากหลายชนิด
นอกจากนี้ ตะวันออกกลางเป็นอีกภูมิภาคหนึ่งที่ยังเปิดรับสินค้าของไทย โดยเฉพาะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นประเทศร่ำรวยอันดับต้นของโลก ต้องการนำเข้า สินค้าจากไทย โดยเฉพาะสินค้าหมวดยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
ส่วนประเทศที่เป็นตลาดมีศักยภาพ เช่น แอฟริกาใต้ เป็นศูนย์กลางสินค้าที่สำคัญของภูมิภาค ขณะที่ ลิเบีย เป็นประเทศร่ำรวยที่สุดในแอฟริกาเหนือ มีรายได้ประชากรต่อคนสูงประมาณ 2.5 เท่าของไทย อีกทั้งระบบภาษีที่เอื้อต่อการค้าและยังมีความต้องการสินค้าอีกมาก สินค้าที่ต้องการ ได้แก่ อาหารกระป๋องและแปรรูป รวมถึงวัสดุก่อสร้าง
อย่างไรก็ตาม ประธานกรรมการ ธสน.ยอมรับว่า การส่งสินค้าไปตลาดใหม่ไม่สามารถทดแทนตลาดหลักทั้งหมด ผู้ส่งออกไทยจึงต้องเร่งปรับปรุงรูปแบบการทำธุรกิจในตลาดหลักที่เป็นตลาดเดิมด้วย โดยปรับปรุงรูปแบบสินค้าให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามสังคม เช่น ผลิตสินค้าเพื่อผู้สูงอายุที่นับวันจะเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ
“การผลิตสินค้าที่ใส่ใจเป็นพิเศษในประเด็นด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคม ตามกระแสความนิยมของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยต้องมีต้นทุนถูกลงหรือสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีต่ำ แต่ประโยชน์ใช้งานคุ้มค่ามากขึ้น”
นอกจากนี้ ผู้ส่งออกควรหันมาทำธุรกิจด้วยความริเริ่มสร้างสรรค์ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า โดยนำความรู้ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม การออกแบบ เทคโนโลยี การวิจัย และพัฒนา ตลอดจนการตลาดนำมาผสมผสานกันเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ที่มีลักษณะพิเศษและแตกต่าง