“ล่วงละเมิด-ค.ควายแข็งแรง” คว้ารางวัลศิลปกรรมเด็กเหรียญทองประจำปี 52 “เจ้าของภาพ”แก้มปริ เผยอยากตีแผ่ สะท้อนปัญหาสังคม ระบุได้แรงบันดาลใจจากภาพนร.ถูกล่วงละเมิดผ่านสื่อ สบศ.จะจัดแสดงภาพที่หอศิลป์ เจ้าฟ้า พร้อม “พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ” เสด็จประทานรางวัล 8 มิ.ย. นี้
นายกมล สุวุฒโฑ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) เปิดเผย ว่าจากการที่ สบศ. ได้เห็นความสำคัญในการส่งเสริมและปลูกฝังความรักและความเข้าใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมด้านทัศนศิลป์ จึงจัดให้มีการประกวดศิลปกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนขึ้นประจำปี 2552 เป็นครั้งที่ 4 มีเด็กและเยาวชนทั่วประเทศส่งผลงานเข้าประกวดถึง 1,300 ภาพ คณะกรรมการระดับชาติได้ทำการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลจำนวน 52 ภาพ 4 ระดับอายุ โดยแต่ละระดับมีผลงานได้รับรางวัลศิลปกรรมเหรียญทอง 1 รางวัล ดังนี้ ระดับอายุไม่เกิน 8 ปีมี 13 รางวัล รางวัลศิลปกรรมเหรียญทอง ได้แก่ ภาพ “ค.ควายแข็งแรง” ของ ด.ญ.ปพิชชารัตน์ ศรีสำอาง โรงเรียนวัดช่างเหล็ก ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ
ระดับอายุ 9-12 ปีมี 13 รางวัล ซึ่งรางวัลศิลปกรรมเหรียญทอง ได้แก่ ภาพ “ล่วงละเมิด” ของ ด.ญ.ณัฐริกา จันทร์เณร โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี
ระดับอายุ 13-16 ปีมี 13 รางวัล ซึ่งรางวัลศิลปกรรมเหรียญทอง ได้แก่ ภาพ “มารผจญ ๒๕๕๒” ของ น.ส.หทัยวรรณ เทพมาลี โรงเรียนดาราสมุทร ศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
ระดับอายุ 17-20 ปีมี 13 รางวัล ซึ่งรางวัลศิลปกรรมเหรียญทอง ได้แก่ ภาพ “ลูกคิด” ของ น.ส.จุไฬรัตน์ ขันขยัน โรงเรียนดาราสมุทร ศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
อธิการบดี สบศ. กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันภาคเอกชนหรือหน่วยงานอื่นๆที่จัดการประกวดในลักษณะนี้จะเน้นให้ความสำคัญในระดับศิลปินเป็นส่วนใหญ่ แต่ สบศ.ถือเป็นหน่วยงานภาครัฐเพียงแห่งเดียวที่จัดโครงการเพื่อส่งเสริมเด็กและเยาวชนมาโดยตลอด ซึ่งการส่งเสริมเด็กในลักษณะนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรม มีผลงานเยาวชนไว้เป็นสมบัติของชาติ เพื่อการศึกษาและเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านศิลปกรรมที่สำคัญของชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ด.ญ.ณัฐริกา กล่าวว่า รู้สึกดีใจเมื่อทราบว่าตนเองได้รับรางวัลศิลปกรรมเหรียญทอง เพราะไม่คิดว่าจะได้ แรงบันดาลใจในการวาดภาพ “ล่วงละเมิด” ขึ้นมา เนื่องจากเห็นมีภาพล่วงละเมิดนักเรียนตามหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยครั้ง พอมีการประกวดศิลปกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน จึงอยากสะท้อนภาพวาดแนวออกมา จึงนำไปปรึกษาอาจารย์สอนศิลปะ อาจารย์ช่วยแนะนำการนำเสนอและเทคนิคต่างๆ อย่างไรก็ตาม การนำเสนอของตนแสดงให้เห็นว่า การที่มีภาพล่วงละเมิดเด็กและเยาวชนจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยแย่ลงเรื่อยๆ ส่วน อนาคตของตนอยากเป็นศิลปินวาดภาพระดับแนวหน้าของประเทศไทย
นายวิเชียร มีนิ่ม อาจารย์สอนพิเศษวิชาศิลปะให้กับ ด.ญ.ณัฐริกา กล่าวว่า รู้สึกภาคภูมิใจกับลูกศิษย์ที่เริ่มต้นจากที่ไม่มีพื้นฐานด้านศิลปะมาเลย ใช้เวลาเรียนรู้ 3 ปี ก็ประสบความสำเร็จคว้ารางวัลศิลปกรรมเหรียญทองมาได้ ซึ่งกว่าจะได้ภาพล่วงละเมิดนี้ ลูกศิษย์ได้มาพูดคุยกับตนว่าอยากวาดสะท้อนปัญหาเช่นนี้ ตนจึงถามกับลูกศิษย์ว่าเคยเห็นเด็กใส่ชุดนักเรียนสวมหมวกไอ้โม่งปิดหน้าปิดตาในโทรทัศน์หรือไม่ ลูกศิษย์บอกว่าเคยเห็น ตนจึงถามว่าทำไมเขาต้องสวมหมวก เด็กตอบว่าเป็นเยาวชนถูกล่วงละเมิดสิทธิต่างๆ เพราะในสังคมมีคนไม่ดี เขาจึงมีแรงบันดาลใจอยากทำผลงานสะท้อนปัญหาสังคมไทยชิ้นนี้ขึ้นมา ตีความได้อย่างลึกซึ้ง
ทั้งนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ จะเสด็จมาประทานรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวด ในวันที่ 8 มิถุนายน 2552 เวลา 16.30 น. และผลงานทั้งหมด 52 ภาพ และผลงานร่วมแสดงอีกจำนวนหนึ่ง จะเปิดทำการแสดงตั้งแต่วันที่ 9-30 มิถุนายน 2552 ณ หอศิลปะแห่งชาติ ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ