xs
xsm
sm
md
lg

"ณอคุณ" แจงเบื้องลึก ปตท.โละบิ๊ก "IRPC-PTTCH" ให้อัตวิบากตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปธ.บอร์ด ปตท.เผยเบื้องลึก "บิ๊กหมง-พรชัย" จำใจไขก๊อก ปธ.บอร์ด "IRPC-PTTCH" ไม่เกี่ยวการเมือง-แผนควบรวม แต่เป็นการลาออกเพื่อแสดงสปิริต ชี้เงื่อนงำการขาดทุนสตอกจำนวนมหาศาล โดยการตัดสินใจจัดซื้อที่ผิดพลาด ทั้งค่าเงินและตลาดล่วงหน้า ต้นเหตุกำไรปี 51 ทรุดหนักเกือบ 4 หมื่นล้าน พร้อมยอมรับ "IRPC" เป็นหนี้บุญคุณ "บิ๊กหมง" เพราะได้ขึ้นศาลมากกว่านั่งทำงาน ส่วนการส่งกรรมการไปนั่ง ปธ.บอร์ดในเครือ เพื่อแก้ไขปัญหาได้ทัน

นายณอคุณ สิทธิพงษ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC กล่าวถึงข่าวการปรับเปลี่ยนประธานบริษัทในเครือ โดยยืนยันว่า ไม่มีการเมืองแทรกแซงการปรับคณะกรรมการ (บอร์ด) ของบริษัท แต่เป็นความหวังให้กำไรดีขึ้น และมุ่งบริหารการขาดทุนจากสตอก เน้นทำประกันความเสี่ยงมาก และไม่ใช่แผนที่จะเตรียมควบรวมกิจการในเครือ

นายณอคุณ กล่าวว่า นโยบายของคณะกรรมการ ปตท.ในขณะนี้กำหนดชัดเจนว่า จะให้กรรมการของ ปตท. เข้าไปเป็นประธานกรรมการบริษัทในกลุ่ม ปตท. โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อที่ประธานกรรมการเหล่านี้จะได้นำปัญหาของแต่ละบริษัทเข้ารายงานในการประชุมบอร์ด ปตท.แต่ละเดือน ทำให้การแก้ปัญหาทำได้รวดเร็วกว่าในอดีต

"การที่กรรมการ ปตท.ให้ความสนใจเรื่องนี้ เพราะเห็นบทเรียนจากผลการดำเนินงานปี 2551 ที่พบว่ากำไรของ ปตท.ลดลงเหลือประมาณ 51,000 ล้านบาท จาก 97,000 ล้านบาท ในปี 2550 สัดส่วนกำไรจากบริษัทในกลุ่ม ลดลงจากร้อยละ 60 เหลือร้อยละ 37 ประเด็นหลักเป็นผลมาจากการขาดทุนสินค้าคงคลัง (stock loss) ในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ดังนั้น หากกรรมการของบริษัทในกลุ่มเห็นปัญหาล่วงหน้าแล้วจัดการได้รวดเร็วขึ้น การขาดทุนสตอกจำนวนมหาศาลก็อาจจะไม่เกิดขึ้น"

นอกจากนี้ บอร์ด ปตท.ยังได้เน้นย้ำให้ทุกบริษัทดูแลเรื่องการบริหารจัดการสตอก ทำอย่างไรให้มีกำไร ซึ่งได้มอบหมายให้นายพิชัย ชุณหวชิร ผู้บริหารด้านการเงินหรือซีเอฟโอของ ปตท.ไปดูแลว่า ควรทำประกันความเสี่ยงในระดับใดที่เหมาะสม ซึ่งแม้ว่า อาจจะทำให้กำไรในช่วงน้ำมันขาขึ้นไม่สูงมากนัก แต่อย่างน้อยก็จะ ป้องกันการขาดทุน ซึ่งหากกลุ่ม ปตท.มีรายได้และกำไรที่ดีแล้ว จะส่งผลให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มไปด้วย โดยในปี 2551 ปตท.ส่งรายได้แก่รัฐจากภาษีและเงินปันผลประมาณ 50,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 2550 ที่รัฐได้รายได้ประมาณ 60,000 ล้านบาท

“ผมไม่ได้เป็นนอมินีของพรรคการเมืองใด แต่การที่เข้าไปปรับคณะกรรมการบริษัทในกลุ่ม ปตท.นับเป็นทิศทางการสร้างแนวทางที่ดี ในการบริหารองค์กร โดยในกรณีไออาร์พีซี ผมก็ได้ขอให้ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ อดีตประธานกรรมการไออาร์พีซี เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประธานกรรมการบริษัท ซึ่งไออาร์พีซีมาถึงวันนี้ได้ ก็เป็นหนี้บุญคุณ พล.อ.มงคล อย่างสูง เพราะเป็นผู้ดูแลแผนฟื้นฟู ขึ้นศาลไม่รู้กี่รอบ”

ประธานบอร์ด ปตท. กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กำลังพิจารณากรรมการของ ปตท.ที่จะเป็นประธานกรรมการ บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTCH ที่นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ลาออก ซึ่งนายพรชัย ได้แสดงสปิริต และเข้าใจถึงการทำงานของ ปตท. เป็นตัวอย่างที่ดีของบริษัทในกลุ่ม ปตท.

ขณะที่บริษัทอื่นๆ ในเครือ ก็คงจะใช้หลักการเดียวกัน โดยต้องการให้กรรมการ ปตท.ไปเป็นประธานกรรมการ และยังกำหนดนโยบายด้วยว่า หากบริษัทใดขาดทุน ประธานกรรมการชุดนั้นควรที่จะต้องพิจารณาตัวเองในการลาออก ยกเว้นการขาดทุนจากเหตุสุดวิสัย ก็น่าจะเป็นแนวทางการดำเนินกิจการที่ดีของผู้นำองค์กร

สำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัทในกลุ่ม ปตท.จะดูแลเรื่องการใช้สินทรัพย์ร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด เร่งแก้ไขป้องกันปัญหาการขาดทุนสตอก ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนและสร้างรายได้ โดยได้มอบหมายให้นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.ในฐานะฝ่ายปฏิบัติไปพิจารณาเรื่องนี้ให้ดีที่สุด ประกอบกับปีนี้ราคาน้ำมันเริ่มขยับขึ้น คาดว่าจะทำให้ผลการดำเนินงานของกลุ่ม ปตท.ดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น