xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้คนไทย 92.3% ยึดวิถีชีวิตพอเพียง แก้ปัญหาหนี้สิน-ฝ่ามรสุม ศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอแบคโพลล์ เผยผลสำรวจเดือน พ.ค.คนไทย 92.3% ยึดวิถีชีวิตพอเพียง แก้ปัญหาหนี้สิน-ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ 88.2% มองภาพรวม ศก.ยังแย่ แต่ก็ดีกว่าเดือน เม.ย.57% แบกภาระหนี้หลังแอ่น พร้อมเผย 5 ลำดับธุรกิจ สร้างหนี้ให้ประชาชน

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจ “เอแบคเรียลไทม์โพลล์ (ABAC Real-Time Survey)” เรื่อง สำรวจวิธีหาทางออกจากปัญหาหนี้สินและแนวทางลดภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเศรษฐกิจถดถอย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนใน 17 จังหวัด 1,140 ครัวเรือน ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2552 โดยพบว่า ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือกว่าร้อยละ 80 ติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนเป็นประจำทุกสัปดาห์

โดยผลสำรวจพบว่า วิธีการที่ประชาชนเลือกใช้มากที่สุดในการบริหารจัดการหนี้สินที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนนั้น อันดับแรก 92.3% คือ การใช้ชีวิตพอเพียงตามแนวพระราชดำริของในหลวง รองลงมา 91.5% คือ การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และพบว่า 89.4% คือ การไม่สร้างหนี้เพิ่ม

ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ 88.2% ระบุว่า สภาพเศรษฐกิจของไทยวันนี้ย่ำแย่ แต่ถือว่าดีขึ้นหากเทียบกับผลสำรวจช่วงเดือนเมษายน 2552 ที่มีประชาชนถึง 94.4% ระบุว่า เศรษฐกิจย่ำแย่ โดยเดือนพฤษภาคม 2552 ประชาชน 11.8% ระบุว่า เศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในเดือนเมษายน 2552 ที่มีประชาชนเพียง 5.6% ระบุว่า เศรษฐกิจดีขึ้น

นอกจากนี้ ผลการสำรวจในเดือนพฤษภาคม 2552 ยังพบว่า ประชาชน 34.4% ระบุว่า มีรายได้ดี ซึ่งถือว่าดีขึ้นจากการสำรวจในเดือนเมษายน 2552 ที่ประชาชนระบุว่า มีรายได้ดี 21.9% ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ 57.6% ระบุว่า มีความจำเป็นในการผ่อนชำระค่าสินค้าและบริการ ส่วนอีก 42.4% ระบุว่า ไม่มีความจำเป็น

โดยสินค้าและบริการที่ประชาชนส่วนใหญ่จำเป็นต้องผ่อนชำระมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ เงินกู้เพื่อซื้อรถ เงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย เงินกู้เพื่อซื้อสิ่งอำนวยความสะดวก บัตรเครดิต บัตรเงินสด และเงินกู้เพื่อการประกอบธุรกิจหรือสร้างรายได้เสริม

สำหรับวิธีที่ประชาชนใช้ลดปัญหาเศรษฐกิจส่วนตัวในปัจจุบัน อันดับแรก คือ ก่อนซื้อสินค้าต้องถามใจตัวเองว่าจำเป็นต้องซื้อหรือว่าเป็นแค่ความอยากได้ รองลงมา คือ การใช้เครื่องมือสื่อสารแทนการเดินทาง และการหันมาซื้อสินค้าราคาถูกที่ใช้งานแทนกันได้
กำลังโหลดความคิดเห็น