xs
xsm
sm
md
lg

“โอฬาร” อัดรัฐนโยบายสินเชื่อแบงก์แย่ ให้คะแนน 3 เดือน ครม.มาร์ค แค่เกรด C

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“โอฬาร” คาดไตรมาสแรกจีดีพีไทยติดลบอย่างน้อย 6-7% ไม่ใช่ ลบ 4-5% อย่างที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ เหตุนโยบายสินเชื่อภาคธนาคารพาณิชย์ล้มเหลว เผย ผลคะแนนของรัฐบาล 3 เดือนแรกแค่เกรดซี แนะรัฐเพิ่มเงินในระบบเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง-แทรกแซงค่าเงินบาทให้อ่อนประมาณ 35-36 บาท/เหรียญ ด้าน “ทนง” เตือน รมว.คลังแบ่งงบรอบสองให้ดี ไม่งั้นพรรคร่วมพาร่วง ขณะที่ “ชัยอนันต์” ชี้ หากแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ทุกอย่างไม่จบ อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

นายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตรองนายรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ”จับชีพจรเศรษฐกิจ” จัดโดยมหาวิทยาลัยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ว่า จากนโยบายการเงินของรัฐบาล โดยเฉพาะการจัดการเรื่องการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจของธนาคารพาณิชย์นั้น ถือว่าล้มเหลว เพราะนอกจากไม่สามารถปล่อยสินเชื่อแล้ว ก็ยังมีการเข้มงวดมากขึ้นด้วย จึงทำให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ผล ทำให้ประเมินว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในไตรมาส 1 ปี 2552 น่าจะติดลบประมาณ 6-7%

ทั้งนี้ จากการประเมินผลงานของรัฐบาลจากการทำงานในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีเพียงการแจกเช็คช่วยชาติเท่านั้นที่เห็นผลเป็นรูปธรรม ส่วนนโยบายสินเชื่อนั้นถือว่าล้มเหลว โดยรวมแล้วผลงานรัฐบาลทำได้แค่ระดับ ซี หรือได้เกรดแค่ 2.58 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม มองว่า สิ่งที่รัฐบาควรเร่งดำเนินการในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมีหลักอยู่ 3 ข้อ คือ 1.ต้องเร่งอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบโดยใช้นโยบายการคลังให้มากขึ้นเพราะปัจจุบันรายได้จากการส่งออกและการบริการติดลบถึง 1.2 ล้านล้านบาท ดังนั้นการทำงบประมาณกลางปี 2551 จำนวน 1.167 แสนล้านบาท ยังไม่เพียงพอ

2.ต้องบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าที่ระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเพื่อเพิ่มเงินให้กับประชาชนผ่านทางผู้ส่งออกที่จะได้เงินบาทจากการขายสินค้าเข้ามามากขึ้น และ 3.ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะกำหนดให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้กับผู้บริโภค เพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยทั้งซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

“นโยบายทั้ง 3 ข้อรัฐบาลต้องประกาศให้ชัดเจนครบถ้วน ทั้งจำนวนเงิน ระยะเวลา และกลุ่มเป้าหมายที่เข้าไปช่วยเหลือ ไม่ใช่เพียงแต่มีนโยบายแต่กลับไม่มีเนื้อหาที่ชัดเจน โดยเฉพาะการบริหารค่าเงินบาท ซึ่งหากทำได้ตามทุกอย่างที่กล่าวก็มีความเป็นไปได้ที่สิ้นปีนี้อาจจะเห็นจีดีพีของไทยติดลบประมาณ 0-1%” นายโอฬาร กล่าว

นอกจากนี้ ทางภาครัฐคงต้องหันมาสังเกตนโยบายของประเทศไทยกับประเทศอื่น อาทิ สหรัฐฯ จีน และเกาหลี ที่พบว่า สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมาได้ ดังเช่น กรณีประเทศเกาหลีใต้ที่มีการนำเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ ส่วนประเทศจีนมีแนวทางที่ค่อนชัดเจนในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้การขยายตัวในไตรมาสแรกกลับมาเป็นบวกที่ 6.5% ขณะที่ นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เชิญนักธุรกิจในทุกด้านมาออกทีวี เพื่อออกนโยบาย และกำหนดเป้าหมาย เวลาให้ชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจ ดังนั้น รัฐบาลไทยต้องเอาอย่างประเทศเหล่านี้ด้วย

ด้าน นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แม้หลายประเทศจะออกมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้หมายความว่า เศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นแล้ว เพราะยังมีผลของการออกมาตรการที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งการสร้างระบบติดตามการดูแลเงินที่เข้าไปอุ้มสถาบันการเงิน การดูแลพวกเก็งกำไร การดูแลนวัตกรรมทางการเงิน เป็นต้น รวมทั้งยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกกี่ปีที่ระบบเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และน่ากลัวว่าหากเศรษฐกิจฟื้นขึ้นแล้วจะดูแลเรื่องเงินเฟ้อและเงินฝืดได้อย่างไร

ทั้งนี้ จากการประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ยังคงติดลบอยู่ที่ 2-4% แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการประกาศแผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ที่ใช้เงินลงทุนมากถึง 1.56 ล้านล้านบาท ที่ถือว่าเป็นเค้กก้อนโตที่มีคนได้และมีคนเสียเพราะมีผลประโยชน์ จึงเป็นห่วงว่า นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง จะประสานนโยบายได้มากน้อยเพียงใด แม้ว่า รมว.คลัง จะเก่งเท่าใด แต่หาก รมต.เศรษฐกิจพรรคร่วมไม่เอาด้วย ก็จะมีปัญหาตามมา เพราะทุกคนต้องการรักษาประโยชน์ของตัวเองไว้ก่อน สุดท้ายทุกอย่างที่หวังไว้ก็จะหนีไม่พ้นรูปแบบเช่นเดียวกับกรณีของ บมจ.การบินไทย ดังนั้น นายกฯ และ รมว.คลัง ต้องคิด ต้องจัดลำดับความสำคัญของโครงการที่จะลงทุนและต้องประสานประโยชน์กับพรรคร่วมรัฐบาลให้ได้

ด้าน นายชัยอนันต์ สมุทวณิช กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลอาจไม่ใช่ทางออกสำหรับแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งถ้าหากแก้ไขแล้วนั้นปัญหาไม่เพียงอาจไม่คลี่คลายแต่อาจเกิดความแตกแยกมากขึ้นระหว่างคนสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมากขึ้น ซึ่งถ้าหากเหตุการณ์เป็นไปตามที่คาด เชื่อว่า ในอีกไม่เกิน 3 เดือนก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น