xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนหนุน “แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง” แนะทำเร็ว-โปร่งใส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาคเอกชนชื่นชม “แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555” มั่นใจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้แน่ แต่ย้ำต้องดูแลให้แผนเดินหน้า และไม่ทุจริต “โอฬาร” คาดจีดีพีของไทยไตรมาส 1 อาจติดลบได้ถึง 7% “ทนง” มองแผนกระตุ้นเศรษฐกิจชุดแรกล่าช้า

นายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเศรษฐกิจจะตกถึงจุดต่ำสุดเมื่อไร เพราะหากดูจากตัวเลขในไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา ที่จีดีพีติดลบ 4.3% แล้วมาไตรมาส 1 ปี 2552 ตัวเลขดัชนีเกี่ยวกับภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การผลิตและบริการเบื้องต้นมันลดลงมากกว่าเดิม ซึ่งจากตัวเลขเหล่านี้พอที่จะประเมินได้ว่าตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1 ปีนี้ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ เตรียมจะประกาศออกมาในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้ คาดาว่าจะติดลบมากกว่าไตรมาส 4 ปีก่อนอย่างแน่นอน โดยอาจจะติดลบ 6-7%

ทั้งนี้ เห็นว่ารัฐบาลควรเร่งดำเนินการในใน 3 ด้านคือ ด้านการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งการที่ภาครัฐมีการออกงบประมาณกลางปีเพิ่ม 1.1 แสนล้านบาท และพยายามที่จะเร่งผลักดันเงินออกมาโดยเร็วถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งตรงนี้ถ้าคิดเป็นคะแนนถือว่าได้ “เอ” ด้านอัตราแลกเปลี่ยน รัฐบาลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องกำหนดเป้าหมายค่าเงินบาทให้ชัดเจน ให้อ่อนค่าขึ้น เพื่อให้ภาคการส่งออกได้เงินเพิ่ม ไม่ได้หมายความว่าจะเพิ่มการส่งออก แต่เป็นการเพิ่มเงินบาท ซึ่งเงินที่เพิ่มเหล่านี้จะไปถึงมือของคนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกซึ่งมีหลายล้านคน เป็นการเพิ่มรายได้อีกช่องทางหนึ่ง ที่ผ่านมา ธปท.ไม่ได้ทำให้ชัดเจน ถ้าให้คะแนนก็ได้แค่ บี

อีกด้านหนึ่งก็คือเรื่องของเครดิต รัฐบาลต้องมีการกำหนดนโยบายสินเชื่ออย่างชัดเจนว่าจะให้ธนาคารรัฐเข้าไปช่วยดูแลในด้านใดบ้าง มีการกำหนดกลุ่มธุรกิจให้ชัดเจน เช่น อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ เป็นต้น รวมไปถึงการค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ธุรกิจ แม้ว่าจะมีการกำหนดวงเงินออกมา แต่สิ่งสำคัญก็คือไม่มีรายละเอียด จึงต้อง ทำให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งต้องนี้รัฐบาลยังขาดหายไป ถ้าให้คะแนนถือว่าติดลบ แล้วหากให้คะแนนในภาพรวมถือว่าได้แค่ “ซี” เท่านั้น

“ในช่วงระยะเวลาที่เหลือ 6-7 เดือน หากรัฐไปดำเนินการใน 3 ด้านเหล่านี้เชื่อว่ามันจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจให้กลับมาดีขึ้น เพราะสิ่งที่พูดมาทางสหรัฐ จีน และเกาหลีใต้ ทำให้เห็นแล้วประสบผล ทำให้เศรษฐกิจมันกลับมาดีได้ จึงอยากฝากเอาไว้ ถ้าทำได้คะแนนก็จะกลับมาเป็นบวก”

นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าการที่รัฐบาลออก แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ของรัฐบาลในกรอบวงเงิน กระตุ้น 3 ปี 1.43 ล้านล้านบาท เป็นเรื่องสอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจมีการเติบโตเป็นบวกในอนาคต และเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่ต้องขอดูรายละเอียดว่าให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ได้อย่างไร และรัฐบาลต้องทำการชี้แจงปัญหาว่าอะไรสมควรดำเนินการก่อนหรือหลัง ส่วนโครงการเมกะโปรเจกต์นั้นรัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนในการตัดสินใจ และต้องให้มีการเดินหน้าต่อไปได้ เพราะโครงการดังกล่าวมีความล่าช้ามานาน

ส่วนแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ รัฐบาลก็ต้องกำหนดแหล่งที่มาให้ชัดเจนด้วยซึ่งแนวทางการจัดเก็บภาษีก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง อย่างการปรับภาษีน้ำมัน แต่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ส่วนการขึ้นภาษีเหล้าและบุหรี่ นั้นไม่ได้ช่วยอะไรได้มากเพราะเป็นเม็ดเงินไม่เท่าไหร่ ดังนั้น รัฐบาลต้องพยายามหาวิธีเพิ่มรายได้อื่น ขณะที่การกู้ยืมเงินก็ถือว่ามีความจำเป็น แม้ว่าจะมีการกู้ยืมสูงถึง 60% จีดีพี แต่หากทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวก็ไม่เป็นไป สิ่งสำคัญคือ ถ้ากู้มาแล้วไม่เกิดประโยชน์หรือเศรษฐกิจไม่เติบโตมันจะยิ่งทำให้เกิดปัญหา เพราะต้องคำนึงถึงการชำระหนี้คืนในระยะยาวด้วย

ส่วนการศึกษาดูแผนงานต่างๆ ของรัฐบาล เชื่อว่าเศรษฐกิจคงจะไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว เพราะทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับผลกระทบของโลกด้วยว่ามันสงบนิ่งหรือไม่ด้วย โดยเคยประมาณการณ์ก่อนหน้านี้เอาไว้ว่า จีดีพีติดลบ 2-4% และจะมีการซึมยาวมากกว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 กว่าจะกลับมาฟื้นขึ้นมาใหม่ได้เชื่อว่าต้องลากยาว 2-3 ปี เป็นอย่างน้อย

“ขณะนี้รัฐบาลได้เดินทางมาถูกแนวทางแล้ว มีการใช้เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 5 แสนล้านบาท แต่สิ่งสำคัญก็คือต้องใช้เงินให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด อย่ารุมกินโต๊ะงบประมาณ มันก็จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และหวังให้ทุกฝ่ายเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติก่อนและให้แบ่งความสำคัญ มากกว่าการแบ่งตามสัดส่วน”

นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในส่วนของภาคเอกชนซึ่งรู้สัญญาณเศรษฐกิจแย่มาตั้งแต่เดือนก.ย.ที่ผ่านมาแล้ว เพราะมีการสำรวจภาคเอกชนจากกลุ่มธุรกิจต่างๆ มาตลอดพบว่ายอดคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) หายไป แต่ขณะนี้มันเริ่มมีกลับเข้ามาบ้างแล้ว ซึ่งพอที่จะประเมินว่าในไตรมาสที่ 3 และ 4 น่าจะพอไปได้ การปลดแรงงานออกก็มีการชะลอตัวไปแล้ว ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาเป็นเรื่องที่ดี ถือว่ามีความพร้อมในการที่จะดูแลเศรษฐกิจ เพียงแต่ว่าต้องไปดูว่าเงินที่นำเข้ามานั้นจะลงไปสู่ธุรกิจภาคไหน แล้วภาคเอกชนก็ต้องคอยติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะไปต่อยอดธุรกิจ

“แม้แนวโน้มต่างๆ เริ่มจะดีขึ้น แต่สิ่งที่ขาดหายไปเวลานี้ก็คือความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งจากการสำรวจนักธุรกิจในประเทศกว่า 60% ระบุว่ายังไม่คิดทำอะไรในช่วงเวลานี้ จะรอดูสถานการณ์ให้มีความชัดเจนก่อน ตรงนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องไปพิจารณาดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อสร้างความมั่นใจให้กลับคืนมา” นายดุสิต กล่าวสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น