xs
xsm
sm
md
lg

6 แบงก์แบ่งเค้ก 2 แสน ล.ลงตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

6 แบงก์พาณิชย์แบ่งเค้กปล่อยกู้รัฐวิสาหกิจ 2 แสนล้าน ดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.0-3.1% “กรณ์” แนะรีไฟแนนซ์เงินกู้รับจำนำข้าว ธ.ก.ส.วงเงิน 1 แสนล้านบาท หวังประหยัดดอกเบี้ยได้กว่าพันล้านบาท ขณะที่ กฟผ.จ่อคิวรับเงินชดเชยค่าเอฟทีอีก 2 หมื่นล้าน ปัดวงเงินเสริมสภาพคล่องการบินไทยยังไม่อยู่ในแผนก่อหนี้ เผย รสก.13 แห่งต่อคิวก่อหนี้ความต้องการวงเงินสูงถึง 2.8 แสนล้านบาท

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 อนุมัติให้กระทรวงการคลังจัดเตรียมวงเงินสำรอง Short term facility จากธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบกิจการในประเทศและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ วงเงินไม่เกิน 2 แสนล้านบาท เพื่อให้รัฐวิสาหกิจที่มีความต้องการกู้เงินภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะสามารถเบิกจ่ายเพื่อใช้เป็น Bridge financing ได้

กระทรวงการคลังได้ดำเนินการจัดให้มีการยื่นข้อเสนอการจัดเตรียมวงเงินสำรองเพื่อให้รัฐวิสาหกิจกู้ (Short term facility) วงเงินไม่เกิน 2 แสนล้านบาท จำนวน 6 ราย ประกอบด้วยธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)BBL 5.85 หมื่นล้านบาท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)KTB 5 หมื่นล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)SCB 4 หมื่นล้านบาท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)KBANK 2.5 หมื่นล้านบาท ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน)SCIB 2 หมื่นล้านบาท และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)TMB 6.5 พันล้านบาท

โดยมีอัตราดอกเบี้ยในส่วนของวงเงินรวมที่ได้รับการจัดสรรเท่ากับอัตราต่ำสุดของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือนที่ 0.7875% ต่อปี บวก อัตราดอกเบี้ยส่วนต่าง ระหว่าง 1.30-2.40% หรือคิดรวมเป็น 2.0-3.1% ทั้งนี้ส่วนต่างดอกเบี้ยจะขึ้นกับระดับความน่าเชื่อถือของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ และสัดส่วนการค้ำ/ไม่ค้ำประกันโดยกระทรวงการคลัง

***กรณ์แนะรีไฟแนนซ์จำนำข้าวธ.ก.ส. 1 แสนล.
นายจักรกฤศฏิ์กล่าว่า ได้รับนโยบายจากนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ว่าควรเร่งกู้เงินดังกล่าวเพื่อนำมาใช้ในโครงการปรับโครงสร้างหนี้(รีไฟแนนซ์)ให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)จำนวน 1 แสนล้านบาท จากกรณีที่ธ.ก.ส.ได้กู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศจำนวน 1.1 แสนล้านเพื่อใช้รับจำนำข้าว ข้าวโพดและมันสำปะหลังตามนโยบายรัฐบาล โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกัน ซึ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 4.95% แต่หากเปลี่ยนมารีไฟแนนซ์วงเงินสำรองนี้จะทำให้รัฐประหยัดต้นทุนดอกเบี้ยลงถึง 3% หรือคิดเป็นวงเงินกว่าพันล้านบาท

"รายแรกที่จะต้องใช้เงินกู้ระยะสั้นนี้คือธ.ก.ส.เพราะจะช่วยลดภาระของรัฐลงได้ถึง 1 พันล้านบาท จากดอกเบี้ยที่จะลดลงจาก 4.95% เป็น 2% โดยจะเป็นการรีไฟแนนซ์เงินกู้เดิมที่ขณะนี้ธ.ก.ส.กู้ไปแล้ว 1 แสนล้านบาท วงเงินกู้นี้ถือเป็นโปรแกรมเงินกู้ที่ถูกที่สุดในโลก ไม่มีค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยต่ำมาก ทั้งจะช่วยเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนให้แก่รัฐวิสาหกิจก่อนที่จะหาแหล่งเงินกู้ระยะยาวได้"นายจักรกฤศดิ์กล่าว

ส่วนรัฐวิสาหกิจอื่นที่ต้องการกู้เพิ่ม ขณะนี้มีรายชื่อตามแผนก่อหนี้สาธารณะของกระทรวงการคลังอยู่แล้ว 13 ราย รวมวงเงินความต้องการกู้เงินทั้งสิ้น 2.8 แสนล้านบาท ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ที่ปัจจุบันยังไม่ได้รับเงินชดเชยค่าเอฟทีจากรัฐอาจมาขอกู้ก่อนได้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการบริหารจำนวน 2 หมื่นล้านบาท ส่วนบมจ.การบินไทย ตอนนี้ยังไม่อยู่ในแผนก่อหนี้ ซึ่งหากภายหลังต้องการเงินกู้สามารถขอเพิ่มเติมได้
กำลังโหลดความคิดเห็น