xs
xsm
sm
md
lg

โกลว์ก่อหนี้2.5หมื่นล. รับพิษศก.ฉุดรายได้รูด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน –โกลว์ฯ แจงแผนก่อหนี้ 3ปีข้างหน้า  2.5 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้า 3 แห่ง โดยปีนี้กู้แบงก์ 9 พันล้านบาท เมินออกหุ้นกู้ หลังสภาพคล่องแบงก์ท่วม จับตาไตรมาส 1/52 กำไรลดต่ำผิดปกติ เหตุเจอพิษเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้การใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมติดลบ 16% และไม่สามารถบันทึกรายได้จากการจ่ายชดเชยหยุดซ่อมโรงไฟฟ้าของบริษัทประกันได้ แย้มรายได้ทั้งปี 2552 ลดลง แต่มาร์จินเพิ่ม หากรัฐคงอัตราจัดเก็บค่าเอฟทีเท่าเดิม แม้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงปรับลดลง
นายสุทธิวงศ์ คงสิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายการเงิน บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน)(GLOW) เปิดเผยว่า แผนการจัดหาเงินกู้สกุลบาทของบริษัทฯใน 3ปีข้างหน้า (2552-2554) เพื่อใช้ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ ประมาณ 25,000ล้านบาท โดยปีนี้จะกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ 9,000 ล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการกู้ยืมเงินไปแล้ว 3,000 ล้านบาท และเร็วๆนี้จะกู้เพิ่มเติมอีก 6,000 ล้านบาท อายุสัญญาเงินกู้ 4-4.6 ปี ดอกเบี้ย 5%
ส่วนในปี 2553 บริษัทฯจะจัดหาเงินกู้อีก 9,000 ล้านบาท และปีถัดไปอีก 7,000 ล้านบาท  เพื่อใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าทั้ง 3 โครงการที่ใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 115 เมกะวัตต์ที่จะแล้วเสร็จปลายปี 2552  โครงการโรงไฟฟ้าไอพีพีถ่านหินของเก็คโค่-วัน กำลังผลิต 660 เมกะวัตต์แล้วเสร็จพ.ย. 2554  และโรงไฟฟ้าก๊าซฯ กำลังการผลิต 382  เมกะวัตต์  จะแล้วเสร็จก.ย. 2554   ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าของบริษัท ในปี 2554 จะเพิ่มเป็น 3,275 เมกะวัตต์ จากที่ปี 2552 มีกำลังผลิต 1,966 เมกะวัตต์  หรือเติบโตขึ้น 67%
“การจัดหาเงินกู้ครั้งนี้ ไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดเครดิตของประเทศลง เนื่องจากเป็นการจัดหาเงินกู้ในประเทศ  ส่วนการจัดหาเงินกู้สกุลต่างประเทศได้ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยในปีที่แล้ว บริษัทฯได้จัดหาเงินกู้โรงไฟฟ้าไอพีพีไปแล้ว 460 ล้านเหรียญสหรัฐและกู้เงินอีก 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งปีนี้ก็ต้องจัดหาเงินกู้เพิ่มเติม โดยบริษัทฯไม่มีแผนจะออกหุ้นกู้ แต่จะเน้นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินในประเทศที่มีสภาพคล่องล้น”
จากการจัดหาเงินกู้เพิ่มเติมนี้ ทำให้อัตราหนี้สินต่อทุนของโกลว์ฯ เพิ่มขึ้นจาก 1.09 เท่า เป็น 2.0 เท่าในอีก 3ปีข้างหน้านี้ แต่หลังจากโรงไฟฟ้าใหม่ทั้ง 3แห่งเดินเครื่องผลิตได้ อัตราหนี้สินต่อทุนจะปรับลดลง โดยบริษัทฯต้องรักษาอัตราหนี้สินต่อทุนไว้ที่ 1 เท่า
นายสุทธิวงศ์ กล่าวถึงผลการดำเนินงานไตรมาส1/2552 ว่า บริษัทฯจะมีรายได้และกำไรลดลงต่ำกว่าปกติ เนื่องจากบริษัทฯไม่สามารถบันทึกรายได้จากการจ่ายชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปของบริษัทประกันภัยในกรณีที่โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 150 เมกะวัตต์ได้ปิดซ่อมมาตั้งแต่ 20พ.ย.51 -20 มี.ค.52 แต่คาดว่าจะสามารถบันทึกรายได้การชดเชยในไตรมาส 2-3 นี้
จากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลง ทำให้ลูกค้าภาคอุตสาหกรรมมีการใช้ไฟฟ้าน้อยลง ส่งผลให้ปริมาณการขายไฟส่วนนี้ลดลงไป 16-17% แต่ก็ยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมที่คิดว่าจะลดลงไป 20% เนื่องจากต้นทุนการผลิตของลูกค้ากลุ่มปิโตรเคมีต่ำกว่าต้นทุนการผลิตในจีน ทำให้สามารถส่งออกไปจำหน่ายในจีนได้  จึงได้มีการผลิตมากขึ้นหลังจากปลายปีที่ต้องหยุดผลิตเพื่อเร่งระบายสต็อกออกไป
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 150 เมกะวัตต์ได้เกิดปัญหาชำรุด ทำให้ต้องหยุดซ่อมบำรุงกระทันหันเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 51  และเพิ่งจะเริ่มผลิตได้ในวันที่ 21 มี.ค.นี้ จากผลกระทบนี้ทำให้บริษัทฯไม่ได้รับรายได้จากค่าความพร้อมของกฟผ.คิดเป็น  90 เมกะวัตต์ และอีก 60 เมกะวัตต์ที่ขายไฟให้กับลูกค้าภาคอุตสาหกรรม ที่บริษัทฯก็ต้องไปซื้อไฟจากที่ป้อนให้แทน ทำให้มาร์จินลดลง  ทำให้รายได้หายไป 200ล้านบาทในปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม การปิดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าดังกล่าว บริษัทฯจะได้รับการชดเชยจากบริษัทฯประกันไม่เต็มที่เพราะมีบางส่วนที่บริษัทต้องแบกรับภาระไว้
นายสุทธิวงศ์ กล่าวต่อไปว่า  ในปีนี้ปัจจัยลบที่มีต่อธุรกิจ คือ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ ซึ่งกระทบต่อลูกค้าในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แต่เชื่อว่าจะไม่รุนแรงเหมือนไตรมาส 4/2551  เพียงแต่ผลิตไม่เต็มที่ คาดว่าทั้งปี การขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมจะติดลบ 5%จากปีก่อน  เพราะในช่วงครึ่งปีหลังความต้องการใช้ไฟจะมากขึ้นมาจากโครงการปิโตรเคมีแห่งใหม่ในเครือปูนซิเมนต์ไทยแล้วเสร็จ ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทฯขนาด 115 เมกะวัตต์เพื่อป้อนให้โครงการดังกล่าวจะเสร็จปลายปีนี้ ทำให้ความต้องการใช้ไฟในครึ่งปีหลังนี้เพิ่มขึ้น 10% รวมกับต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ถูกลง ทำให้รายได้ของบริษัทฯปีนี้แม้ว่าจะลดลงจากปีก่อนที่มีรายได้รวม 3.38 หมื่นล้านบาท แต่มาร์จินน่าจะดีขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทฯจะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังน้ำห้วยเฮาะปีละ 150 ล้านบาท โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 152 เมกะวัตต์ บริษัทฯได้ซื้อหุ้นจากจีดีเอฟ ซุเอซ 67.25%  โดยบริษัทฯจะลงนามสัญญาซื้อขายหุ้นในอีก 2 สัปดาห์นี้ หลังจากรัฐบาลลาวเพิ่งอนุญาตให้มีการซื้อขายหุ้นได้
“สิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้ คือ ค่าเชื้อเพลิงทั้งก๊าซธรรมชาติและถ่านหินปรับลดลงจากปีที่แล้ว หากค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ(เอฟที)ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง มาร์จินของบริษัทฯดีขึ้น โดยปีที่แล้ว ราคาก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 265 บาท/ล้านบีทียู ปัจจุบันลดเหลือประมาณ 230 บาท/ล้านบีทียู และราคาถ่านหินจากเดิม 125 เหรียญสหรัฐ/ตัน ลดลงมาเหลือ 70กว่าเหรียญสหรัฐ/ตัน”
ในปีที่แล้ว ค่าเชื้อเพลิงทั้งถ่านหินและก๊าซธรรมชาติปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่เอฟที แทบไม่ได้มีการปรับขึ้นตามต้นทุน ซึ่งการขายไฟฟ้าให้กับภาคอุตสาหกรรมจะอิงกับค่าเอฟที ทำให้บริษัทฯต้องแบกรับภาระส่วนนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถึง 1,000 ล้านบาท
นายสุทธิวงศ์ กล่าวย้ำว่า รายได้ของบริษัทฯนับจากปี 2553 -2557 จะเติบโตต่อเนื่องทุกปี เนื่องจากบริษัทฯรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะทยอยแล้วเสร็จในปลายปี 2552
สำหรับแผนการลงทุนในต่างประเทศนั้น ขณะนี้บริษัทฯกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการทำโรงไฟฟ้าพลังน้ำเสริมกับโรงไฟฟ้าห้วยเฮาะเพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้นานขึ้นจากปัจจุบันที่ผลิตอยู่วันละ 8 ชั่วโมงเป็น 18 ชั่วโมง โดยไม่ได้เพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งบริษัทฯจะต้องเจรจากับกฟผ.เพื่อขอปรับขึ้นค่าไฟเพิ่ม และยืดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้นานขึ้นจากเดิมที่สัญญามีอายุ 30 ปี แต่สัญญาผ่านมาแล้ว 7-8 ปี
“การตัดสินใจซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าห้วยเฮาะที่ลาวนั้น จะทำให้บริษัทมีโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนในลาวได้ง่ายขึ้น ซึ่งขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการศึกษาอยู่หลายโครงการ ส่วนที่กัมพูชายังไม่มี สำหรับเวียดนามนั้น คงต้องรอให้ปูนซิเมนต์ไทยตัดสินใจลงทุนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ก่อน หลังจากเลื่อนโครงการไป 2 ปี”
นอกจากนี้ บริษัทกำลังพิจารณาเรื่องการลงทุนพลังงานทดแทน ในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานลม 3 แห่งในพื้นที่ภาคอีสาน กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์/แห่ง  โดยอยู่ในระหว่างการทดสอบแรงลม ซึ่งต้นทุนการผลิตอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ/เมกะวัตต์ หากพบว่าโครงการดังกล่าวมีความเป็นไปได้ก็จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปลายปี 2553
กำลังโหลดความคิดเห็น