xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นธปท.ลดดอกเบี้ยพยุงศก. ภาคอสังหาฯจี้รัฐบาลใช้ยาแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"กรณ์" ส่งสัญญาณให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยด่วน ช่วยพยุงเศรษฐกิจก่อนมาตรการกู้เงินทำเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลจะเห็นผล ภาคเอกชนจี้ช่วยชะลอปัญหาเลิกจ้าง กกร.ถกผลกระทบวันนี้ อยากเห็นเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยด่วน นักธุรกิจอสังหาฯ แนะรัฐบาลปรับใช้ยาแรงได้แล้ว ด้าน ก.ท่องเที่ยวเสนอ “ชุมพล” ชงเรื่องเข้า ครม.ขยายโครงการเงินกู้ช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวเฟส 2 วงเงิน 10,000 ล้านบาท เน้นรายใหญ่

จากเหตุการณ์วุ่นวายจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและประชาชน นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ยอมรับว่า อาจทำให้เศรษฐกิจปี 52 หดตัวลงมากกว่าที่คาดไว้ และเป็นไปได้ที่จะหดตัวไปถึง 4.5-5% ตามที่นักวิชาการคาดการณ์ และอาจทำให้เกิดปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้น 2 ล้านคน โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นในขณะนี้เห็นได้จากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้การจัดเก็บรัฐบาลลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ด้วย ตนเห็นว่าจากสถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนไป ต้องติดตามธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกหรือไม่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่ประชุมครั้งลาสุดปรับลดดอกเบี้ยไปเพียง 0.25%

สำหรับรัฐบาลสิ่งที่จะดำเนินการได้ภายใต้งบประมาณที่มีจำกัด ก็จะต้องเร่งการกู้เงินเพื่อนำมาลงทุนผ่านโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็คต์ 1.56 ล้านล้านบาท เป็นการกู้เงินในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพารายได้ของรัฐบาล ซึ่งเชื่อว่าสภาพคล่องในประเทศขณะนี้ยังมีอยู่สูงรองรับการกู้เงินของรัฐบาลได้โดยไม่กระทบต่ออัตราผลตอบแทนในตลาด เนื่องจากภาคเอกชนเองไม่มีการขยายการลงทุนในระยะนี้
"การใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการกู้เงิน 1.56 ล้านล้านบาทนั้น จะยังไม่เกิดผลโดยเร็ว การลดดอกเบี้ยควรจะเป็นนโยบายเสริมในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ก่อน" รมว.คลังกล่าว

ด้านนายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า รัฐบาลหรือภาคธุรกิจหันมากู้เงินจากในประเทศมากขึ้นในปัจจุบัน ถือเป็นเรื่องที่ดีและบรรยากาศเอื้อจากอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ไม่สูงนัก หลังจาก กนง.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารพาณิชย์ในระบบลดลงตาม ประกอบกับปัจจุบันมีสภาพคล่องในระบบสูงถึง 2 ล้านล้านบาท จึงไม่ห่วงเรื่องสภาพคล่องในระบบจะไม่เพียงพอ

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากที่ดำเนินการไปแล้ว เพื่อเป็นมาตรการต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกระตุ้นแรงซื้อในประเทศนั้น ต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง เพราะการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงทำให้ความเชื่อมั่นลดลงส่งผลให้คนกลุ่มหนึ่งไม่กล้าใช้จ่าย จากเดิมคาดหวังว่าเช็กช่วยชาติ 2,000 บาท จะมีการใช้มากช่วงสงกรานต์ แต่พอมีปัญหาหลายๆ คนเลยชะลอการใช้จ่ายออกไป ดังนั้นมาตรการใหม่ๆ ที่รัฐบาลควรจะพิจารณา นอกเหนือจากการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ ควรพุ่งไปที่การพัฒนาขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม และการชะลอการเลิกจ้าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาคนตกงาน และจำเป็นต้องผลักดันให้มีการลงทุนเร็วขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่ได้ผ่านการอนุมัติไปแล้ว รวมไปถึงการโรดโชว์เพื่อดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา

***กกร.ถกผลกระทบเสื้อแดงวันนี้
สำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้แก่ ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย (กกร.) วันนี้ (17เม.ย.) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตต์ นายสันติกล่าวว่า จะหารือถึงผลกระทบต่อการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงและมาตรการแก้ไข โดยเฉพาะการฟื้นฟูความเชื่อมั่นคนไทยและต่างชาติ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเรื่องเร่งด่วนที่ภาคเอกชนต้องการเห็น คือ การยกเลิกพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

**คนอสังหาฯเชื่อ ศก.ทรุดยาว2ปี
รศ.มานพ พงศทัต อาจารย์พิเศษภาควิชาเคหะการ คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงปลายไตรมาส 1 กำลังโงหัวขึ้น ซึ่งเศรษฐกิจของไทยขณะนั้นดีกว่าสหรัฐอเมริกา แต่หลังจากเหตุการณ์ก่อจลาจลของกลุ่มนปช. ต่อจากนี้ไปจะมีแต่แย่ลงและเกิดปัญหาบานปลาย เหตุการณ์ครั้งนี้จะยุติได้ยาก ทุกคนจะคอยหวาดผวาว่าการก่อจลาจลจะเกิดขึ้นอีกเมื่อใด

“ตราบใดที่ยังมีปัญหากลุ่มคนเสื้อแดงอยู่ รัฐบาลก็จะไม่มีเวลาคิดแก้ปัญหาเศรษฐกิจแม้จะมีการประชุมตลอด 24 ชั่วโมงก็ตามต้องแก้เรื่องความมั่นคงของประเทศก่อน สิ่งที่ทำมาตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาของรัฐบาลต้องสูญเปล่า มาตรการต่างๆที่ออกมาจะใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไปเพราะสถานการณ์มันเปลี่ยนต้องคิดใหม่เราจะเสียเวลาไปอีก 2 ปี” รศ.มานพ กล่าว

***แนะปรับใช้ยาแรงกระตุ้น ศก.
ด้านนายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า แม้ว่าการชุมนุมประท้วงจะยุติลงไปแล้ว แต่ปัญหายังไม่จบ ซึ่งจะทำให้ทั้งประชาชนและนักลงทุนมีความกังวลและหวาดระแวงว่าจะเกิดเหตุดังกล่าวขึ้นอีกเมื่อใด และเมื่อเกิดเหตุการณ์ประท้วงสุดท้ายก็กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกำลังซื้อลดลง และนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศที่ลงทุนเองหรือลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ เมื่อปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น จะส่งผลให้ไม่มีเงินหมุนเวียนภายในประเทศ สุดท้ายเศรษฐกิจประเทศก็หยุดชะงักอีกครั้ง เมื่อเป็นเช่นนี้การอุปโภคสิ้นค้าคงทนถาวรอย่างบ้านและรถยนต์ก็ต้องลดลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สิ่งที่รัฐบาลควรรีบดำเนินการหลังจากนี้คือ การทำประชาสัมพันธ์ถึงเหตุการณ์ในประเทศไทยแก่นักลงทุนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ รวมถึงกำหนดวันที่ชัดเจนในการประกาศยังเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น รัฐบาลจะต้องระบุแนวทางแก้ปัญหา 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ มาตรการต่างๆที่ออกมาเชื่อว่ามีหลายข้อจะใช้ไม่ได้ผลหลังจากนี้ไป ดังนั้น รัฐบาลควรใช้ยาแรงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 2. การแก้ไขปัญหาการเมืองให้มีเสถียรภาพหรือนิ่งขึ้น โดยจะต้องมาวิเคราะห์ว่าสาเหตุเกิดจากอะไรกันแน่

“ส่วนกรณีที่มีการให้สัมภาษณ์จากทักษิณ เกี่ยวกับประเทศไทยแก่สื่อต่างชาตินั้น หากสิ่งที่พูดไม่ถูกต้องเป็นการทำลายประเทศไทย รัฐบาลควรรีบออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง เพราะหากปล่อยให้พูดต่อก็จะเกิดผลเสีย เหมือนกับที่เราถูกนินทาว่าร้ายแล้ว ถ้าเรานิ่งไม่อธิบายความจริงให้ทุกคนฟัง ก็เท่ากับว่าเราเป็นอย่างที่เค้าพูดจริงๆ” นายอธิปกล่าวและว่า ประเทศไทยในขณะนี้ก็เหมือนกับป่วยเป็นโรคระบาดที่ติดต่อกันไปทั่วโลก แถมเจอโรคแทรกซ้อนอีกทำให้เหมือนป่วยหนัก ทำให้ต้องใช้ความพยายามมากในการรักษาโรคแทรกซ้อนไปด้วย ส่วนโรคระบาดจะไม่มีวันหายขาด จนกว่าเศรษฐกิจโลกไม่ได้รับการรักษาให้หายขาดชะก่อน

***ท่องเที่ยวชงหมื่นล้านแก้วิกฤติ
นางสาวศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับภาคเอกชนเพื่อหารือแก้ปัญหาการท่องเที่ยวในภาวะวิกฤตทางการเมือง ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการที่จะขยายการช่วยเหลือด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ภาคเอกชนท่องเที่ยวในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีสินทรัพย์เกิน 200 ล้านบาทขึ้นไป คาดว่าต้องการวงเงินปล่อยกู้รวม 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MLR-3 แบ่งเป็นรัฐบาลจะช่วยอัตราดอกเบี้ย 2% และ ธนาคารช่วยเหลือ 1% ผ่อนชำระนาน 4 ปี และจะเสนอของบประมาณอีก 1,000 ล้านบาท ช่วยเหลือแรงงานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่ให้ถูกเลิกจ้างงาน

โดยจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ซึ่งมีนายชุมพล ศิลปอาชา รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธาน เพื่อพิจารณาในวันที่ 21 เม.ย.52 ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นลำดับต่อไปภายในเดือนเมษายนนี้

วงเงินกู้ 10,000 ล้านบาทนั้น เป็นส่วนขยายจากโครงการเดิมที่ ครม.อนุมัติไปแล้ว คือวงเงินกู้ 5,000 ล้านบาท ที่ให้กับรายเล้ก แต่ขณะนี้ความวุ่นวายทางการเมืองได้ส่งผลกระทบแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งหมด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่ด้วย แต่กำหนดเพดานวงเงินกู้ไม่เกินรายละ 100 ล้านบาท ส่วนขั้นตอนใช้รูปแบบเดิมคือ ยื่นหลักฐานผ่าน 4 สมาคมใหญ่เพื่อคัดกรองเบื้องต้น ได้แก่ สมาคมโรงแรมไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(แอตต้า) สมาคมภัตตาคารไทย และ สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.)

อย่างไรก็ตาม หาก ครม.เห็นชอบวงเงินกู้ดังกล่าว คาดว่าจะเริ่มเปิดรับเอกสารเข้าร่วมโครงการได้ในเดือน พ.ค.-มิ.ย.52 และเริ่มปล่อยวงเงินกู้ได้ในเดือน ก.ค.52 ส่วนโครงการในเฟสแรกล่าสุดมีผู้ประกอบการขอเข้าโครงการเงินกู้แล้วรวมวงเงินกว่า 2,000 ล้านบาท มีทั้ง โรงแรม ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว และ อื่น โดยจะปิดรับสมัครในวันที่ 30 เม.ย.ศกนี้ หากไม่เต็มวงเงิน 5,000 ล้านบาท ตามที่ตั้งไว้ ก็จะนำเงินส่วนที่เหลือมาปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น