xs
xsm
sm
md
lg

ขอหมื่นล.แก้วิกฤติท่องเที่ยวเอกชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – กระทรวงการท่องเที่ยวเล็งเสนอ”ชุมพล”ชงเรื่องเข้า ครม.ขยายโครงการเงินกู้ช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวเฟส2 วงเงิน 10,000 ล้านบาท เน้นรายใหญ่ที่สินทรัพย์เกิน 200 ล้านบาท เหตุม็อบเสื้อแดงทำธุรกิจท่องเที่ยวพังยับ พร้อมแนบเรื่องขอเงินอีก 1,000 ล้านบาท ใช้ช่วงวิกฤตอัพเกรดแรงงานท่องเที่ยวจัดเป็นโครงการฝึกอบรม อ้างเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการต้องเลิกจ้างพนักงาน

นางสาวศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับภาคเอกชนเพื่อหารือแก้ปัญหาการท่องเที่ยวในภาวะวิกฤตทางการเมือง ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการที่จะขยายการช่วยเหลือด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ภาคเอกชนท่องเที่ยวในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีสินทรัพย์เกิน 200 ล้านบาทขึ้นไป เบื้องต้นคาดว่าจะต้องการวงเงินปล่อยกู้รวม 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MLR-3 แบ่งเป็นรัฐบาลจะช่วยเหลือในส่วนของอัตราดอกเบี้ย 2% หรือเป็นวงเงินประมาณ 100-200 ล้านบาท และ ธนาคาช่วยเหลือ 1% ระยะเวลาผ่อนชำระนาน 4 ปี นอกจากนั้นจะเสนอของบประมาณอีก 1,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่ให้ถูกเลิกจ้างงาน

โดยทั้งหมดที่กล่าวมาจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ซึ่งมีนายชุมพล ศิลปอาชา รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธาน เพื่อพิจารณาในวันที่ 21 เม.ย.52 ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นลำดับต่อไปภายในเดือนเมษายนนี้
**เสนอครม.ปล่อยกู้รายใหญ่หมื่นล้าน***
นางสาวศศิธารา กล่าวในรายละเอียดว่า ในส่วนของวงเงินกู้ 10,000 ล้านบาทนั้น เป็นส่วนขยายจากโครงการเดิมที่ ครม.ได้อนุมัติให้ดำเนินการไปแล้ว คือวงเงินกู้ 5,000 ล้านบาท ที่ปล่อยกู้ให้เฉพาะภาคเอกชนท่องเที่ยวที่มีสินทรัพย์ต่ำกว่า 200 ล้านบาท เพราะต้องการช่วยเฉพาะธุรกิจรายเล็ก แต่ขณะนี้ความวุ่นวายทางการเมืองได้ส่งผลกระทบแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งหมด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่ด้วย แต่ทั้งนี้การปล่อยกู้จะกำหนดเพดานวงเงินกู้ไม่เกินรายละ 100 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนขั้นตอนการขอเข้าโครงการใช้รูปแบบเดิมคือยื่นหลักฐานผ่าน 4 สมาคมใหญ่เพื่อคัดกรองเบื้องต้น ได้แก่ สมาคมโรงแรมไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(แอตต้า) สมาคมภัตตาคารไทย และ สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.)

อย่างไรก็ตาม วงเงินกู้ 10,000 ล้านบาทดังกล่าว นอกจากจะเป็นการปล่อยกู้โดยธนาคารพาณิชย์เหมือนกับโครงการในเฟสแรกแล้วนั้น ภาคเอกชนยังเสนอเป็นทางเลือกว่า ให้รัฐบาลออกพันธบัตรระยะยาว 4 ปี วงเงิน 10,000 ล้านบาท เป็นการระดมเงินจากภาคประชาชนมาปล่อยกู้แก่เอกชนท่องเที่ยว

“ในประเด็นการออกพันธบัตรรัฐบาลนี้ ได้ให้ข้อคิดเห็นในที่ประชุมเพื่อให้ภาคเอกชนเข้าใจตรงกันว่า ภาระหน้าที่ของรัฐบาลต้องดูแลช่วยเหลือแก่อุตสาหกรรมทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบไม่สามาเจาะจงช่วยเหลือเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว”

อย่างไรก็ตาม หาก ครม.เห็นชอบวงเงินกู้ดังกล่าว คาดว่าจะเริ่มเปิดรับเอกสารเข้าร่วมโครงการได้ในเดือน พ.ค.-มิ.ย.52 และเริ่มปล่อยวงเงินกู้ได้ในเดือน ก.ค.52 ส่วนโครงการในเฟสแรกล่าสุดมีผู้ประกอบการขอเข้าโครงการเงินกู้แล้วรวมวงเงินกว่า 2,000 ล้านบาท มีทั้ง โรงแรม ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว และ อื่น โดยจะปิดรับสมัครในวันที่ 30 เม.ย.ศกนี้ หากไม่เต็มวงเงิน 5,000 ล้านบาท ตามที่ตั้งไว้ ก็จะนำเงินส่วนที่เหลือมาปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ต่อไป

****ขอพันล้านยื้อเวลาเลิกจ้างงาน***
สำหรับวงเงิน 1,000 ล้านบาท ที่จะช่วยเหลือแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่ให้ถูกเลิกจ้างงานนั้น เพราะผลการสำรวจของกระทรวงการท่องเที่ยวฯในเบื้องต้น ระบุว่า มีแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประมาณ 1,200,000 คน แบ่งเป็นธุรกิจโรงแรมที่พัก 500,000 คน บริษัทนำเที่ยว400,000 คน ภัตาคารร้านอาหาร 100,000 คน และ อีก 200,000 คน อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น ไกด์ สปา ขนส่ง สวนสนุก เป็นต้น ซึ่งทุกเซกเมนต์ดังกล่าวได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและการเมืองภายในประเทศ ทำให้ต้องเลิกจ้าง หรือลดวันทำงานของพนักงาน โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบสูงสุดคือกลุ่มพนักงานระดับปฎิบัติการ ส่วนระดับผู้บริหาร หรือ CEO ได้รับผลกระทบน้อยกว่า

ดังนั้นวงเงิน 1,000 ล้านบาท จะทำโครงการฝึกอบรมพนักงานที่ถูกลดวันทำงาน โดยพนักงานเข้ารับการฝึกอบรมในวันที่ไม่ต้อไปทำงาน โดยรัฐจะจ่ายเงินให้วันละ 200 บาทต่อคน แบ่งเป็นระยะสั้น 1 เดือน กับระยะยาว 4 เดือน รวมวงเงินที่จะต้องจ่ายให้แก่พนักงานที่เข้ารับการฝึกอบรมนี้ประมาณ 640 ล้านบาท วิชาฝึกอบรมเช่น ภาษาต่างประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ เกาหลี เป็นต้น

ส่วนอีก 360 ล้านบาท ใช้เพื่อจัดจ้างสถาบันฝึกอบรม และมหาวิทยาลัย รวมถึงเพื่อใช้บริหารจัดการโครงการ โดยการฝึกอบรมจะกระจายอยู่ทุกภูมิภาคครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งโครงการฝึกอบรมนี้ เพื่อเตรียมพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเริ่มกลับมาภายในไตรมาส4ปีนี้

“ผู้ประกอบการที่จะนำพนักงานเข้ามาฝึกอบรมในโครงการนี้ ต้องมีข้อแม้ว่าจะไม่มีโครงการปลดพนักงานออกแต่อย่างใด ส่วนกรณีพนักงานที่ถูกเลิกจ้างไปก่อนหน้านี้แล้ว ให้เข้าไปร่วมในโครงการต้นกล้าอาชีพที่รัฐบาลได้จัดทำขึ้น” ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น