xs
xsm
sm
md
lg

คลังหนุน 4 แบงก์รัฐขับเคลื่อน ศก.ปี 52 เล็งจัดมันนี่เอ็กซโป เม.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รมว.คลัง เตรียมผลักดัน 4 แบงก์รัฐเป็นหัวหอกแก้ปม ศก.เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น เตรียมชงที่ประชุม บอร์ด รมต.เศรษฐกิจ 11 ก.พ.นี้ เน้นปล่อยกู้ ดบ.ต่ำ ส่งเสริมเงินฝาก ดบ.สูง พร้อมจับมือ “พาณิชย์” จัดมหกรรมการเงินครบวงจร ช่วงต้นเดือน เม.ย.นี้ ที่เมืองทองธานี

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอแนวทางการปล่อยสินเชื่อของธนาคารรัฐออกสู่ระบบ ให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนและจูงใจเงินฝากด้วยดอกเบี้ยที่สูงต่อที่ประชุม โดยได้เตรียมจัดงานมหกรรมการเงิน ประกอบด้วย สถาบันการเงินของรัฐ และหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี) ส่วนกระทรวงพาณิชย์ จะนำธุรกิจแฟรนไชส์ที่ประสบผลสำเร็จมาแนะนำและขายเฟรนด์ไชน์เพื่อขยายธุรกิจรองรับกับผู้ที่ตกงาน

ทั้งนี้ เป้าหมายในการจัดงานมหกรรมการเงิน รัฐบาลหวังให้ประชาชนเกิดการใช้จ่ายและส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ และเอสเอ็มอีก็จะมีความเชื่อมั่นในการลงทุน ซึ่งจะมีการจัดงานดังกล่าวในช่วงต้นเดือนเมษายน 2552 นี้ ที่เมืองทองธานี โดยมีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ และเชื่อมโยงต่อการจัดงานเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้น ซึ่งรูปแบบของการจัดงานจะมีลักษณะคล้ายกับงานมหกรรมมั่นใจไทยแลนด์ในช่วงปีที่แล้ว

นายกรณ์ กล่าวเสริมว่า ในการประชุม 11 ก.พ.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจทุกรูปแบบ ซึ่งข้อเท็จจริงปัญหาสินเชื่อในระบบไม่ใช่ปริมาณเงินระบบมีไม่เพียงพอ แต่ความพร้อมในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินมีน้อยมาก เพราะกลัวความเสี่ยงลูกค้าชำระเงินกู้น้อยลง ซึ่งรัฐบาลต้องมีส่วนในการลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เช่น การเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อให้สถาบันการเงิน

สำหรับการเดินทางไปโรดโชว์ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ประเทศญี่ปุ่น นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จะมีการหารือกับรัฐบาลญี่ปุ่นเกี่ยวกับแนวทางการปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลไทยเพื่อใช้ลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ ซึ่งจะมีข้อสรุปที่ชัดเจน เนื่องจากญี่ปุ่นได้เห็นชอบในเบื้องต้นในการปล่อยกู้ให้ไทย ผ่านโครงการต่างๆ หลายแสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้ไทยไม่ต้องวิตกกังวลในเรื่องเงินทุนในการก่อสร้างแล้ว สำหรับการเดินทางไปต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีน่าจะดึงความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศได้

นายกรณ์ กล่าวถึงการจัดงานมหกรรมการเงิน (มันนี่เอ็กซโป) ที่พัทยา วานนี้ โดยมีสถาบันการเงินมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ระหว่างวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ 2552 นี้ โดยใช้กลยุทธ์ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 0 และเงินฝากดอกเบี้ยสูง ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้มากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจในภาคตะวันออกมีผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพีสูงถึง 1.38 ล้านล้านบาท สูงเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ

ขณะนี้ สถาบันการเงินของไทยได้เริ่มลดดอกเบี้ยเงินกู้บ้างแล้ว หลังจากที่กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ส่งสัญญาณให้ลดส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝาก (สเปรด) ที่มีสูงถึง 6% ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ดี

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเตรียมแผนเร่งปล่อยสินเชื่อธนาคารของรัฐให้ได้ตามเป้าหมาย โดยเร่งช่วยเหลือผู้ส่งออกได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลก เพราะมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษ และกระทรวงการคลัง มีนโยบายบรรเทาปัญหาผู้ส่งออกจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ได้ตั้งเป้าการให้สินเชื่อสำหรับ เอ็กซิม แบงก์ในปี 2552 จำนวน 58,000 ล้านบาท โดยให้ความสำคัญกับ ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากจากวิกฤตโลกด ตลอดจนการขยายเวลาการให้กู้ยืม และการให้ดอกเบี้ยแบบคงที่

นอกจากนี้ จะประกันความเสี่ยงการส่งออกให้ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงการคลัง โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ความเห็นชอบเมื่อเร็วๆนี้ในการจัดหาเงินเพิ่มทุนให้เอ็กซิม แบงก์จำนวน 5,000 ล้านบาท เพื่อให้ธนาคารสามารถให้บริการประกันการส่งออกตามเป้าหมาย 150,000 ล้านบาท ต่อปี

ทั้งนี้ การประกันความเสี่ยงนี้มีความสำคัญ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ส่งออกจำนวนมาก ได้รับการปฎิเสธการให้สินเชื่อ จากธนาคารพาณิชย์ แต่ถ้าผู้ส่งออกได้รับการประกันการส่งออกจาก เอ็กซิมแบงก์ ก็จะสามารถรับสินเชื่อได้

สำหรับหรับกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มอัญมณีและสิ่งทอ กลุ่มอุตสาหกรรมข้าว ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตลอดจนกลุ่มอุตสาหกรรมที่สนใจในบริการประกันส่งออก ทั้งนี้ การให้บริการประกันการส่งออกสามารถให้บริการกับสินค้าทุกประเภท โดยมีการคุ้มครอง 2 ประเภท ได้แก่ 1.การประกันความเสี่ยงทางการค้า จากกรณีผู้ซื้อล้มละลาย ผู้ซื้อไม่ชำระค่าสินค้าและผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบสินค้า และประการที่ 2.การประกันความเสี่ยงทางการเมือง กรณีผู้ซื้อไม่สามารถนำสินค้าเข้าในประเทศได้ เกิดสงคราม จลาจล ปฏิวัติ รัฐประหาร และเกิดการควบคุมการโอนเงินมายังประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น