xs
xsm
sm
md
lg

ทีดีอาร์ไอ เตือนภาวะเงินฝืด Q2 สศค.คาดปี 52 ดบ.แตะ 0%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ทีดีอาร์ไอ" คาดที่ประชุม กนง.พรุ่งนี้ มีมติหั่น ดบ.ลงอีก 0.25-0.50% เพื่อกระตุ้น ศก. คาดไตรมาส 2 ปีนี้ อาจเผชิญภาวะเงินฝืด เพราะเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 3 เดือน ยันไม่ใช่ภาวะ ศก.ถดถอยรุนแรง ขณะที่ สศค.คาดแรงกดดัน ศก.โลก อาจทำให้ ดบ.นโยบายในปี 52 เข้าใกล้ระดับ 0% พร้อมจี้ ธ.พาณิชย์ ควรกำหนด ดบ.กู้-ฝาก ให้เป็นธรรม

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านพัฒนาเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 8 เม.ย.นี้ คาดว่า กนง.คงจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 - 0.5 ซึ่งถือเป็นการใช้นโยบายทางการเงินเข้ามาเสริมนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนจะได้ผลมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับนโยบายการคลังเป็นหลัก แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจะมีส่วนช่วยลดต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาล เพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ถูกลงได้

ผู้อำนวยการวิจัยด้านพัฒนาเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืดหลังอัตราเงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน 3 เดือน และมีโอกาสติดลบต่อเนื่อง 3 ไตรมาส แต่ปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง ซึ่งมองว่าประเทศไทยยังไม่ถึงจุดนั้น

ขณะที่ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ให้ความเห็นถึงการประชุม กนง.เพื่อพิจารณากำหนดดอกเบี้ยนโยบาย ในวันพรุ่งนี้ เชื่อว่า น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้ง และคาดว่าภายในสิ้นปี พ.ศ.2552 ดอกเบี้ยนโยบายอาจจะลดลงมาอยู่ในระดับ 0.50-1% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.5% ส่วนในการประชุมครั้งนี้จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในอัตราใดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ กนง.เอง

"โดยส่วนตัวเห็นว่าหากจะให้การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายมีประสิทธิภาพก็ควรจะลดลงมากกว่าทื่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย เพื่อดูแลเศรษฐกิจยังมีความจำเป็น ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายการคลัง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาวะหดตัว"

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.อาจไม่ได้มีผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก เนื่องจากการบริโภค และการลงทุนยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง การลดดอกเบี้ยจึงอาจไม่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายมาก แต่จะเป็นการช่วยลดภาระต้นทุนดอกเบี้ยของประชาชนและภาคเอกชน

ขณะเดียวกันเห็นว่า ธปท. ควรต้องเข้ามาดูแลกลไกดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งด้านเงินกู้ และเงินฝากให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น

ทั้งนี้ จากทิศทางดอกเบี้ยทั่วโลกที่อยู่ในระดับต่ำใกล้ 0% โดยที่ประเทศต่างๆ ยังคงใช้นโยบายการเงินในการดูแลวิกฤติเศรษฐกิจ ดังนั้น ในส่วนของไทยจากสมมติฐานของ สศค.คาดว่าภายในสิ้นปีนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะลดลงอยู่ระดับ 0.50-1.00% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.5%

ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สศค. กล่าวอีกว่า แนวโน้มการใช้นโยบายดอกเบี้ยเพื่อดูแลเศรษฐกิจในอนาคตอาจมีข้อจำกัดมากขึ้น เนื่องจากดอกเบี้ยลดลงอยู่ในระดับต่ำมากแล้ว ดังนั้น ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจการดำเนินนโยบายการเงินยังมีอีกหลายด้านที่สามารถนำมาใช้ได้ ทั้งการใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนให้ค่าเงินอ่อนลง หรือนโยบายการซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้เอกชน
กำลังโหลดความคิดเห็น