xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาณบวกธุรกิจก่อสร้างฟื้นตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธุรกิจก่อสร้าง มั่นใจเสถียรภาพรัฐบาลดันตลาดก่อสร้างปี52กลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลังรัฐบาลญี่ปุ่นแสดงความเชื่อมั่นการเมืองไทย ไฟเขียวJICA เซ็นสัญญาอนุมัติเงินกู้เมกะโปรเจกต์ พร้อมแนะรัฐ-เอกชนเตรียมความพร้อมรับโอกาสทางธุรกิจ

รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารงานก่อสร้าง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม( อดีต นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์) กล่าวว่า จากข้อมูลรายงานภาวะตลาดก่อสร้างไทยในปี 52 ของสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯคาดว่าจะตลาดรวมในปีนี้จะหดตัวจากปี2551ประมาณ 50% โดยจะมีมูลค่ารวมอยู่ที่3.2แสนล้านบาท แบ่งออกเป็นมูลค่างานก่อสร้างจากภาคเอกชน 1.6 แสนล้านบาท และเป็นมูลค่างานก่อสร้างจากภาครัฐบาล 1.6 แสนล้านบาท ส่วนในปีที่ผ่านมา มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมก่อสร้างรวมอยู่ที่ 6.5 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็นงานก่อสร้างในภาคเอกชน 4.5 แสนล้านบาท ส่วนภาครัฐมีมูลค่างานก่อสร้าง 2 แสนล้านบาท

ก่อนหน้านั้น คาดการณ์กันว่า ตลาดอุตสาหกรรมก่อสร้างในปี52 คาดว่า จะยังคงซึมต่อเนื่อง หลังจากได้รับปัจจัยลบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งคาดว่าในช่วง 1-3 ปี จากนี้ตลาดจะทรงตัวในระดับเดียวกันด้วย แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (JICA) ได้เซ็นสัญญาความร่วมมืออนุมัติเงินกู้ในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า และโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ทิศทางตลาดอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ การอนุมัติเงินกู้ของ JICA เพื่อพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลนั้น เป็นสัญญาณที่ดี ซึ่งเชื่อว่าหลังจากที่มีการอนุมัติเงินกู้เพื่อการก่อสร้างในโครงการแรกแล้ว ก็คาดว่าจะมีการอนุมัติวงเงินกู้ในโครงการอื่นๆ ที่รัฐบาลมีแผนจะก่อสร้างเพิ่มอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ในช่วง4ปีก่อนหน้านั้น แม้ว่ารัฐบาลชุดก่อนๆจะแสดงความพร้อมในการดำเนินหน้าก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ แต่ธนาคารเพื่อความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่น (เจบิก) ก็ไม่อนุมัติเงินกู้ เนื่องจากขาดความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพของรัฐบาล และสถานการณ์ด้านการเมือง

“การอนุมัติเงินกู้ของ JICA ในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีว่า ประเทศญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในชุดปัจจุบันและคาดว่าในระยะต่อไป จะมีการอนุมัติเงินกู้ในโครงการอื่นๆ ออกมาอีกซึ่งจะทำให้มีงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐออกมาให้ภาคธุรกิจก่อสร้างในประเทศมีงานใหม่เข้ามาในตลาด”

โดยหลังจากนี้สิ่งสำคัญที่ภาคธุรกิจก่อสร้างและรัฐบาลต้องดำเนินการคือ การเตรียมความพร้อมในการดำเนินการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ส่วนในภาคเอกชนนั้น แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่มีงานก่อสร้างในภาครัฐออกมามาก แต่ผู้ประกอบการก่อสร้างก็ควรมีการเตรียมความพร้อมไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านั้น กระทรวงการคลัง และเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น สำหรับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิตของการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมทั้ง ได้มีการลงนามในสัญญาเงินกู้สำหรับโครงการดังกล่าวร่วมกับ นาย Katsuji ONODA ผู้อำนวยการองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (JICA)

ซึ่งภายใต้ความร่วมมือทางการเงินครั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นตกลงให้กระทรวงการคลังกู้เงิน โดยผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) ในงวดแรกวงเงิน 63,018 ล้านเยน หรือเทียบเท่าประมาณ 23,341 ล้านบาท สำหรับการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต

รศ.ดร.ต่อตระกูล กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างในประเทศได้ขยายตลาดออกไปประมูลงานในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เพื่อขยายช่องทางตลาดเพิ่ม และยังเป็นการสร้างประสบการณ์ และเปิดตลาดใหม่ๆ โดยในปี51มีบริษัทก่อสร้างในประเทศออกไปประมูลงานโครงการก่อสร้างภาครัฐของประเทศต่างๆ ภายใต้โครงการเงินกู้ของธนาคารโลก ซึ่งมีผู้ประกอบการก่อสร้างไทยชนะการประกวดราคาในประเทศต่างๆ เช่น โครงการก่อสร้างถนนไฮเวย์ในประเทศอินเดีย มูลค่างานก่อสร้าง 61.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โครงการ Substation ในประเทศลาว มูลค่า 3.8ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และโครงการSubstation ในประเทศเวียดนาม 219,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนั้น ผู้ประกอบธุรกิจก่อสร้างในประเทศยังออกไปประมูลงานก่อสร้างโครงการประเภทที่อยู่อาศัยในประเทศต่างๆ อีกหลายๆ ประเทศ เช่น ประเทศลาว เวียดนาม อินเดีย กัมพูชา บังกลาเทศ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาต้า ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีและยังเป็นการลดความเสี่ยงในการรับงานตลาดในประเทศเพียงอย่างเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น