เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ฟอร์ด ประเทศไทย ยกขบวนผู้สื่อข่าวกว่า 10 ชีวิต ข้ามน้ำผ่านทะเลไปยังกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยจุดหมายหลักของการไปเยือนคือ ทดสอบสมรรถนะ โฟกัส ไมเนอร์เชนจ์ 2.0 TDCi เกียร์พาวเวอร์ชิฟท์
แม้เก๋งคู่บุญจะทำยอดขายไม่ค่อยสวยงามในปีนี้ แต่เมื่อถึงเวลาปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ ตามวงจรชีวิตก็ต้องทำเพื่อสร้างความสดใหม่ โดยในไทยฟอร์ดเพิ่งจัดงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จากนั้นจะนำไปอวดโฉมกับสาธารณะชนในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2008 ปลายเดือนนี้(พร้อมส่งมอบ) ซึ่งมีให้เลือกทั้งตัวถังซีดานและแฮทซ์แบ็ก 5 ประตู กับราคา(ช่วงแนะนำ) 1.099 ล้านบาท
สำหรับทริปทดสอบในประเทศฟิลิปปินส์ อันเป็นฐานการผลิตรถยนต์นั่งที่สำคัญของฟอร์ดในอาเซียน ถือเป็นกิจกรรมระดับภูมิภาค โดยนักข่าวไทยเป็นกลุ่ม 3 ที่ได้ทดสอบ โฟกัส ใหม่ ต่อจากนักข่าวเจ้าถิ่น และอินโดนีเซีย ซึ่งผู้จัดได้วางรูปแบบการขับครบรสหลากหลาย ทั้งวิ่งผ่านเมืองพลุกพล่าน ขับทางยาวๆบนไฮเวย์ ไปจนถึงการขับในสนามแข่ง
ก่อนจะกล่าวถึงการทดสอบ เรามาดูกันว่า “โฟกัส ไมเนอร์เชนจ์” และรุ่นที่เราได้เป็นพาหนะ 2.0 TDCi เกียร์พาวเวอร์ชิฟท์ ตัวถังแฮทซ์แบ็ก มีอะไรปรับหรือน่าสนใจตรงไหนบ้าง?
รุ่นนี้อะไรใหม่
หน้าตาโดยรวมปรับให้คมสัน มีชีวิตชีวามากขึ้น ทั้งกระจังหน้า ไฟหน้ารับกับแนวสันกระโปรง ส่วนกันชนพร้อมช่องระบายลมทรงสี่เหลี่ยมคางหมู ขณะที่ล้ออัลลอยด์ 16 นิ้วลาย 5 ก้านใหม่ ปรับรูปแบบไฟเลี้ยวที่กระจกมองข้าง รวมถึงสปอยเลอร์หลังคาดีไซน์ใหม่
ภายในมองรวมๆแทบไม่เห็นความแตกต่าง แต่สัมผัสได้ถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพิ่มขึ้น ทั้งที่พักแขนตรงคอนโซลกลางเลื่อนได้ มีช่องเก็บของและวางแก้ว-ขวดน้ำเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็เสริมช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลังมาให้ (รุ่นดีเซลเดิมไม่มี) พร้อมความอเนกประสงค์อย่างเบาะหลังพับราบได้แบบ 60:40
ด้านความปลอดภัยระดับดิสก์เบรก 4 ล้อ และABS ระบบกระจายแรงเบรก EBD พร้อมด้วยระบบไฟฉุกเฉินสว่างอัตโนมัติเมื่อผู้ขับเบรกกะทันหัน ถูกใส่มาเป็นมาตรฐานทุกรุ่น ส่วนรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล จะเสริมระบบควบคุมการทรงตัว ESP และระบบป้องกันล้อหมุนฟรี Traction Control มาให้ด้วย
เครื่องยนต์ดูราทอร์ค ดีเซล เทอร์โบ คอมมอนเรล 2.0 ลิตร บล็อกเดิม 136 แรงม้า แรงบิดระดับ 320 นิวตันเมตร และเพิ่มได้ถึง 340 นิวตันเมตรในจังหวะโอเวอร์บูสต์ ส่งกำลังด้วยเกียร์ พาวเวอร์ชิฟท์ 6 สปีด ดูอัลคลัทซ์
รู้จัก พาวเวอร์ชิฟท์ 6 สปีด ดูอัลคลัทซ์
จุดเด่นประเด็นขายของ โฟกัส ดีเซล ชั่วโมงนี้ต้องยกให้ ระบบเกียร์ พาวเวอร์ชิฟท์ 6 สปีด ดูอัลคลัทซ์ ซึ่งถือเป็นนวตรกรรมใหม่ล่าสุดที่ฟอร์ดจัดมาให้ในตลาดรถยนต์เมืองไทย...แล้วระบบนี้มันคืออะไร?
เกียร์ PowerShift ชุดนี้ได้รับการพัฒนาโดย Getrag Ford Transmissions GmbH ก่อตั้งขึ้นจากการร่วมทุนระหว่าง Getrag และฟอร์ด ซึ่งระบบนี้จะประกอบด้วยชุดส่งกำลังสองชุดที่ทำงานประสานกัน โดยแต่ละชุดมีคลัตช์เปียกเป็นของตัวเอง โดยให้ชุดหนึ่งทำงานกับเกียร์ 1, 3 และ 5 และชุดที่สองทำงานกับเกียร์ 2, 4 และ 6 เมื่อต้องการเปลี่ยนเกียร์ ระบบจะเลือกเกียร์ถัดไปไว้ล่วงหน้า (1-2-3-4-5-6) ทำให้การส่งกำลังต่อเนื่องและรวดเร็วกว่าเกียร์ธรรมดาที่ใช้คลัทซ์เดี่ยว
ทั้งนี้โครงสร้างทางเทคนิคของพาวเวอร์ชิฟท์ จะไม่มี torque converter, planetary gear set, คลัตช์เปียกหลาย ๆ ตัว และผ้าคลัตช์หลายชิ้น ซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของเกียร์ไม่เต็มที่ เนื่องจากยังมีความเฉื่อยและการต้านแรงบิด
หรือจะว่าไปพาวเวอร์ชิฟท์ มันก็คือเกียร์ธรรมดา(แต่ดีกว่า) ที่ทำงานได้แบบเกียร์อัตโนมัติ (แต่ส่งกำลังได้เร็วกว่า) ซึ่งถือเป็นระบบเทพที่ฟอร์ด กล้าใส่มาให้เป็นเจ้าแรกในตลาดบ้านเรา เพราะถ้าเลยนี่ไป ก็ต้องโน้นครับ “พีดีเค” ของ ปอร์เช่, “ดีเอสจี”ของ โฟล์ค หรือ “ทวิน คลัทซ์ เอสเอสที” ใน EVO X
ลองขับครบรส
อย่างที่บอกว่า ผู้จัดงานได้เตรียมการลองขับ โฟกัส 2.0 TDCi ไว้ให้หลายรูปแบบ โดยเริ่มต้นจากกรุงมะนิลา มุ่งสู่โรงแรมที่พักในซูบิกเบย์ กับระยะทางกว่า 160 กิโลเมตร...ทั้งนี้ในช่วง 20 กิโลเมตรแรก เราต้องขับฝ่าการจราจรอันติดขัด รถราวิ่งวุ่น ซึ่งดูแล้วน่าเวียนหัวกว่ากรุงเทพเยอะ ที่สำคัญยังเป็นประเทศขับรถพวงมาลัยซ้ายอีกด้วย
แต่กระนั้นเจ้าคอมแพกต์คาร์สุดเท่ ก็มุดซ้ายเสียบขวา คล่องตัวด้วยพวงมาลัยแร็กแอนพิเนียนคมๆ น้ำหนักพอดีมือสั่งงานกระฉับแม่นยำ ขณะที่พละกำลังเครื่องยนต์มาให้ไม่ได้ขาด แม้จะอยู่ในช่วงความเร็วต่ำ ด้านเบรกน้ำหนักพอดิบพอดี สัมพันธ์กับแรงกดของฝ่าเท้า เรียกว่าให้ความมั่นใจไม่ต้องปรับตัวเยอะ
หลังผ่านความจอแจอึดอัด เราวิ่งเข้าถนนไฮเวย์ โดยที่นี่เขากำหนดความเร็วไว้ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง...สำหรับการขับทางยาวๆ เราได้รับรู้ถึงช่วงล่างอิสระสี่ล้อที่ยังเฟิร์มขับสนุก และรู้สึกว่าจะหนึบแน่นกว่ารุ่นเดิมเล็กน้อย ซึ่งตรงนี้ได้คำตอบจากวิศวกรของฟอร์ดว่า ในรุ่นไมเนอร์เชนจ์มีการปรับปรุงประสิทธิภาพของเพลา และสปริง โช้คอัพ รวมถึงเหล็กกันโคลง ให้ดียิ่งขึ้น(แต่ไม่บอกเทคนิค)
ความรู้สึกในการโยกย้ายเปลี่ยนแลน เข้าออกโค้งไม่แพ้หรืออาจจะดีกว่า เก๋งคอมแพกต์หลายๆยี่ห้อในเมืองไทย ส่วนการใช้ความเร็วสูง(แอบลอง)รถยังทรงตัวดี บางช่วงเป็นโค้งยาวตัวรถยังเกาะถนนนิ่ง การเก็บเสียงในห้องโดยสารดีพอสมควร เบาะนั่งคู่หน้าโอบกระชับสรีระไม่นุ่มไม่แข็ง วิ่งทางไกล ไม่เมื่อยหลัง ส่วนการนั่งเป็นผู้โดยสารตอนหลัง ตัวเบาะอาจชันแข็งไปนิด แต่ด้วยช่วงล่างอันพิถีพิถันยังนั่งนุ่ม ซับแรงกระเทือนจากเพื่อนถนนได้ดีมาก
การวิ่งโดยแช่เกียร์ไว้ที่ตำแหน่ง D ไล่ความเร็วจากต่ำไป แถว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การเปลี่ยนเกียร์ไหลลื่นนุ่มนวลเหมือนที่คุย ส่วนการขยับมาลองเล่นเอง ก็สั่งการกระฉับกระเฉง ส่งกำลังได้ต่อเนื่องทุกย่านความเร็ว แต่จะติตรงที่ตัวเลขบอกตำแหน่งเกียร์ที่หน้าปัด เล็กไปนิด และไม่โดดเด่น เนื่องจากไปอยู่ในจอเดียวกับตัวเลขแสดงผลอื่นๆ(เวลา,อุณหภูมิ,อัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน ฯ) ซึ่งถ้าแยกออกมาต่างหาก และตัวเลขใหญ่ขึ้นจะเพิ่มความเร้าใจในการขับได้อีกมาก
บางช่วงบางตอนของการเล่นเปลี่ยนเกียร์เอง เราลองลากรอบอยู่ในช่วงเกียร์ 3-4 ซึ่งเข็มไมล์ก็วิ่งไปถึง 4,200 รอบเท่านั้น แล้วจึงตัดเปลี่ยนเกียร์ (เรดไลน์ 4,500) ก็ไม่แปลกครับเพราะเป็นการช่วยถนอมเครื่องยนต์ ขณะเดียวกันพวกแรงม้า แรงบิด มาเต็มกำลังสูงสุด ก็อยู่ในช่วง 2,000-4,000 รอบต่อนาที อย่างไรก็ตามการขับที่ตำแหน่งเกียร์สูงสุด ความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รอบเครื่องยนต์จะอยู่แถวๆ 2,000 เท่านั้น
หลังมาถึงโรงแรมที่พัก กับระยะทางทั้งสิ้น 166.7 กิโลเมตร เรากดดูอัตราสิ้นเปลืองบนหน้าจอแจ้งตัวเลขไว้ 7.2 ลิตร/100 กิโลเมตร หรือ 13.88 กิโลเมตรต่อลิตร (ช่วงถนนโล่งๆมีการขับแบบโหดๆอัดๆบ้าง) ขณะที่ตัวเลขของฟอร์ดเคลมไว้ว่า โฟกัส 2.0 TDCi ดูอัลคลัทซ์ ทำได้เฉลี่ย 5.8 ลิตร/100 กิโลเมตร หรือ 17.24 กิโลเมตรต่อลิตรเลยทีเดียว
รวบรัดตัดความ...ถ้ามองว่านี่คือคอมแพกต์คาร์ราคา 1.1 ล้านบาท อาจดูน่าตกใจ แต่จะว่าไปรุ่นท็อปของยี่ห้ออื่นในคลาสเดียวกัน ราคาก็ร่วมๆล้าน(เกือบ)หมดแล้ว ที่สำคัญเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีที่ได้รับ ทั้งความแรง พร้อมประหยัดของเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ ส่งกำลังด้วยเกียร์พาวเวอร์ชิฟท์ 6 สปีด ดูอัลคลัทซ์ รวมถึงช่วงล่างการบังคับควบคุมอันเนี้ยบเนียนแล้ว น่าจะทำให้ “โฟกัส”กลายเป็นยนตรกรรมอันพร้อมด้วยสุดยอดเทคโนโลยี ที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น