xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมคิด-ชวนคุย กับ ก.ล.ต. :ตราสารหนี้ มีดีอะไร (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในยุคที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเช่นปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักก็คาดการณ์ กันว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยน่าจะยังคงระดับต่ำเช่นนี้ไปอีกระยะหนึ่ง เพราะเป็นมาตรการ หนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โจทย์ใหญ่ของผู้ที่มีเงินเหลือออมในขณะนี้ก็คือ จะเอาเงินไปไว้ที่ไหนดี (ที่ไม่ใช่การฝังตุ่มเพราะเดี๋ยวข้างบ้านมาแอบขุดไป) โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราอยู่ในกลุ่มที่ยังไม่สามารถรับความเสี่ยงสูงๆ จากการลงทุนในตลาดหุ้นได้

ในภาวะดอกเบี้ยต่ำ ผู้ที่มีรสนิยมเสี่ยงต่ำ จะมีทางเลือกใดบ้าง?

รูปแบบการออมที่เราคุ้นเคยกันมาแต่เล็กแต่น้อยก็คือสะสมเงินได้ก็เอาไปฝากธนาคาร เพื่อรอรับดอกเบี้ย ซึ่งอาจจะจ่ายปีละ 2 งวด 4 งวด หรือทุกเดือนก็ตามแต่ (ที่มาของดอกเบี้ยเกิดจากกระบวนการดังนี้ ธนาคารทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับเงินฝากแล้วนำเงินฝากไปปล่อยกู้ เมื่อธนาคารมีรายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ก็นำกลับมาจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้ฝากเงิน) แต่หลายปีมานี้ ตัวเลขดอกเบี้ยที่ได้รับแต่ละงวดกลับน้อยลงๆ ทุกที ประกอบกับหลังจากที่พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับ สถาบันการเงินจะมีการทยอยลดระดับความคุ้มครองเงินฝากของผู้ออมเงินลงไปเป็นลำดับจนเหลือเพียง 1 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงินในที่สุด (ปี 2555) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ฝากเงินที่จะมีความเสี่ยงว่าอาจได้รับเงินฝากคืนไม่ครบจำนวน หากสถาบันการเงินที่เราฝากเงินมีปัญหาล้มหายตายจากไป... ทีนี้จะทำเช่นไรกันดี วันนี้ 'ร่วมคิด-ชวนคุย กับ ก.ล.ต.' ขอนำเสนอทางเลือกที่แตกต่างแต่เข้าใจง่าย นั่นก็คือ การลงทุนในตราสารหนี้ หรือที่เรียกกันคุ้นหูว่า 'พันธบัตร' หรือ 'หุ้นกู้' นั่นเอง

ตราสารหนี้ บางครั้งเรียก ตราสารแห่งหนี้ คือ สัญญาของการกู้ยืมเงิน โดยผู้ออกตราสาร(ลูกหนี้) ตกลงจะจ่าย ดอกเบี้ย เป็นงวดๆ และคืน เงินต้น ให้แก่ผู้ถือตราสารหรือ ผู้ลงทุน (เจ้าหนี้) ตามระยะเวลาที่ระบุไว้อย่างชัดเจน กล่าวคือ ผู้ขอกู้และผู้มีเงินให้กู้ ทำการกู้ยืมเงินกันโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านธนาคารนั่นเอง และจ่ายดอกเบี้ยตอบแทนให้แก่ผู้ให้กู้

ผู้ออกตราสารหนี้ เป็นได้ทั้งรัฐบาล และเอกชน ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐหรือองค์กรของรัฐเรียกว่า 'พันธบัตร' หรือ 'ตั๋วเงินคลัง' หากออกโดยภาคเอกชนหรือบริษัทต่างๆ เรียกว่า 'หุ้นกู้''ตั๋วเงิน' หรือ 'ตั๋วแลกเงิน' ทีนี้ลองมาทำความรู้จัก พันธบัตร และ หุ้นกู้ ซึ่งเป็นตราสารที่เรามักจะได้ยินชื่อบ่อยๆ ทั้งคู่จะมีการกำหนดรายละเอียดหรือเงื่อนไขคล้ายๆ กัน เช่น มูลค่าที่ตราไว้ (face/par value) ซึ่งเป็นมูลค่าที่ผู้ลงทุนต้องชำระ ณ วันลงทุน และจะได้รับคืนเมื่อตราสารครบกำหนดอายุ ส่วนใหญ่กำหนดไว้ที่ 1,000 บาท ในระหว่างที่ยังไม่ครบอายุตราสาร ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย ซึ่งจะมีการกำหนดรายละเอียดไว้ที่หน้าตราสาร ได้แก่ อัตราดอกเบี้ย (coupon rate) คิดเป็นร้อยละต่อปี งวดการจ่ายดอกเบี้ย (coupon frequency) ซึ่งบอกถึงกำหนดการจ่าย ดอกเบี้ย เช่น ปีละ 1 ครั้ง หรือ ทุก 3 เดือน เป็นต้น นอกจากนี้ จะมีข้อมูล อายุตราสาร (maturity) และวันครบอายุตราสาร เพื่อให้ผู้ลงทุนทราบว่าจะได้รับเงินต้นและดอกเบี้ยงวดสุดท้ายคืนเมื่อใด และที่ขาดไม่ได้ก็คือชื่อผู้ออก (issuer) ซึ่งจะเป็นผู้ที่จ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้ลงทุน เป็นต้น สำหรับตราสารหนี้ที่เรียกว่า zero-coupon bond นั้น จะมีลักษณะต่างไปจากรูปแบบข้างต้น คือ ในวันที่ลงทุนผู้ลงทุนจะชำระเงินน้อยกว่า face/par value และผู้ออกตราสารจะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยตลอดอายุตราสาร โดยเมื่อลงทุนจนครบอายุตราสาร ผู้ลงทุนจะได้รับเงินคืนเต็มจำนวนเท่ากับ face/par value

พันธบัตรมักไม่ค่อยมีความซับซ้อน เนื่องด้วยผู้ออกคือรัฐบาลหรือองค์กรของรัฐที่มีความน่าเชื่อถือหรือเครดิต (credit) ดีที่สุดและโอกาสเบี้ยวไม่จ่ายหนี้คงเป็นไปได้ยาก ดังนั้น เมื่อจะลงทุนในพันธบัตร ผู้ลงทุนจึงมักจะพิจารณาเพียง อัตราดอกเบี้ย และอายุของพันธบัตร ว่าตรงกับความต้องการของตนหรือไม่

ส่วนหุ้นกู้จะมีลักษณะซับซ้อนกว่า แบ่งออกได้เป็นหลายประเภท เช่น แบ่งตามการ ค้ำประกัน แบ่งตามสิทธิในการเรียกร้อง (เรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออก) หรือแบ่งตามสิทธิแฝงของตราสารหนี้ เช่น หุ้นกู้ที่ให้สิทธิในการแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ (convertible bonds) เป็นต้น (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเภทของตราสารหนี้ที่ www.bex.or.th หรือ www.tsi-thailand.org)

และด้วยเหตุที่ผู้ออกหุ้นกู้เป็นเอกชน ซึ่งขนาดของบริษัท ความมั่นคงของฐานะการเงิน และการดำเนินธุรกิจแตกต่างกันไป การจะลงทุนในหุ้นกู้ ผู้ลงทุนจึงมีปัจจัยที่ต้องพิจารณา หลายประการ เช่น credit หรือความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออก ลักษณะหรือเงื่อนไข ของหุ้นกู้ อายุหุ้นกู้ อัตราดอกเบี้ย เป็นต้น (ในเรื่องของข้อมูลเกี่ยวกับ credit นั้น ปัจจุบันมีสถาบันจัดอันดับเครดิต (credit rating agency: CRA) ทำหน้าที่ในการประเมินความ น่าเชื่อถือของตราสารหนี้ ซึ่งข้อมูลการจัดอันดับ (rating) ความน่าเชื่อถือนั้น ผู้ลงทุนนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนได้ เพราะเป็นข้อมูลที่บอกผู้ลงทุนเบื้องต้นว่าตราสารที่เล็ง อยู่นั้น มีความเสี่ยงด้าน credit มากน้อยเพียงใด ซึ่งวิธีการอ่านและการใช้ประโยชน์จาก ข้อมูล rating รวมทั้งข้อมูลอื่นเกี่ยวกับหุ้นกู้จะได้ เล่าถึงรายละเอียดกันในตอนต่อๆ ไป)

กล่าวโดยสรุปคือ การลงทุนในตราสารหนี้ก็คือการให้กู้รูปแบบหนึ่งที่มีกติกาชัดเจน ดังนั้น ข้อดี คือผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่แน่นอน (หากผู้ออกตราสารไม่มีปัญหาฐานะการเงินจนจ่ายเงินไม่ได้ไปเสียก่อน) เนื่องจากกำหนดเรื่องการจ่ายดอกเบี้ยไว้ชัดเจนตั้งแต่แรก จึงสามารถวางแผนการเงินส่วนตัวได้ อีกทั้งผลตอบแทนที่ได้ก็มักจะสูงกว่าการฝากเงินที่ธนาคาร (เพราะมีความเสี่ยงสูงกว่าการฝากเงิน) ตราสารหนี้จึงน่าจะเหมาะสำหรับผู้ที่ออมเงินผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารอย่างเดียวที่กำลังแสวงหาทางเลือกในการบริหารจัดการเงินทุนให้งอกเงยในยุคดอกเบี้ยเงินฝากต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แต่ก็ยังไม่อยากเสี่ยงไปลงทุนในหุ้นเสียทีเดียว

สำหรับผู้ลงทุนที่ลงทุนในช่องทางอื่นๆ อยู่แล้วแต่ต้องการได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอและไม่อยากสูญเสียเงินลงทุนไป ยามนี้หาตราสารหนี้ติดพอร์ตไว้บ้างก็น่าจะกระจายความเสี่ยงในการลงทุนอีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะเป็นตราสารที่ถือว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าหุ้น ผู้ลงทุนก็ต้องไม่ลืมที่จะทำความรู้จักกับตราสารประเภทนี้ให้ดีก่อนการลงทุน ครั้งหน้ามาคุยกันเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีนอกเหนือจากดอกเบี้ย รวมทั้งเรื่องของภาษีที่เกี่ยวข้อง อย่าลืมมาติดตามกัน ลาไปก่อนสำหรับวันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น