xs
xsm
sm
md
lg

เคล้าส์ ฟีว์เวเกอร์ "เบนซ์บลูเทค น้ำมันต้องพร้อม"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กว่า 50 ปีที่ “เมอร์เซเดส-เบนซ์”อยู่เคียงข้างคนไทย กับรถหลากรุ่นหลายโมเดลที่ออกมาทำตลาด โดยเริ่มต้นจากการนำเข้าทั้งคน จนถึงปัจจุบันรุ่นหลักๆอย่าง ซี-คลาส อี-คลาส และเอส-คลาส ล้วนถูกประกอบในประเทศทั้งสิ้น ขณะเดียวกันถ้านับจากยอดขายไทยถือเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียนกับตัวเลข 4,000 คันต่อปี(สิงคโปร์ 3,500 คัน, มาเลเซีย 3,000 คัน, อินโดนีเซีย 2,000 คัน และเวียดนามประมาณ 1,000 คัน) ทั้งหมดจึงแสดงให้เห็นถึงรากฐานอันแข็งแกร่งในไทย และความเชื่อถือในคุณค่า“ดาวสามแฉก”ได้เป็นอย่างดี
เคล้าส์ ฟีว์เวเกอร์
ปัจจุบันผู้บริโภคในยุคน้ำมันแพง หันมาพึ่งพาพลังงานทางเลือกหลากหลายรูปแบบ ซึ่ง“เมอร์เซเดส-เบนซ์” ก็เตรียมผลิตภัณฑ์รองรับความต้องการลูกค้า อย่างการติดตั้งระบบก๊าซเอ็นจีวี ให้กับ อี-คลาส จนขายดิบขายดี ทั้งยังเป็นรถหรูที่กล้าวางเครื่องยนต์ดีเซลในไทยเป็นเจ้าแรกอีกด้วย...

ก้าวต่อไปของเมอร์เซเดส-เบนซ์ จะทำอะไร และเตรียมหาเทคโนโลยีใดมารองรับน้ำมันทะลุ 150 ดอลลาร์/บาเรลล์ “ผู้จัดการมอเตอริ่ง” สัมภาษณ์ เคล้าส์ ฟีว์เวเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการออกแบบเครื่องยนต์ บริษัทเดมเลอร์ เอจี ประเทศเยอรมนี ในโอกาสมาเยือนประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

- แผนรับมือน้ำมันแพง

ต้องยอมรับว่า ปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันสูงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรยานยนต์ ส่วนแผนการรับมือ ขณะนี้ตลาดอื่นๆ เช่นอเมริกา และยุโรป จะเน้นเรื่องการลดมลพิษจำพวกคาร์บอนไดอ๊อกไซด์เป็นสำคัญ และนั่นคือเป้าหมายหลักเร่งด่วนของเบนซ์ ที่ต้องทำให้สำเร็จ รวมถึงการพัฒนาเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น บริโภคน้ำมันน้อยลง ซึ่งเราลงทุนหลายพันล้านยูโรสำหรับการพัฒนาเครื่องยนต์ ส่วนในอนาคต เครื่องยนต์แบบไฮบริด และฟิวเซลล์ กำลังจะตามออกมา

สำหรับในประเทศไทย มีการพูดถึงเรื่องของ น้ำมัน อี85(E85) ซึ่งเราคิดว่า ยังต้องใช้เวลาศึกษาอีกสักระยะ อีกทั้งเบนซ์เองก็มีรถที่รองรับเชื้อเพลิงได้หลากหลายทั้ง เบนซิน ดีเซล และก๊าซเอ็นจีวี

-ทิศทางเครื่องยนต์ของเบนซ์

แบ่งเป็น 3 ช่วงคือ ช่วงแรก จะเป็นการพัฒนาเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น กินน้ำมันน้อยลง ทั้งเบนซิน และดีเซล รวมถึงรองรับการใช้พลังงานทดแทนหลากหลายชนิดเช่น แก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซล เป็นต้น ซึ่งล่าสุด เมอร์เซเดส-เบนซ์ พัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์ดีเซล ภายใต้ชื่อ “บลูเทค”

ส่วนช่วงที่สอง จะเป็นเรื่องของรถไฮบริด ซึ่งเวลานี้เราพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันกับ ค่ายบีเอ็มฯ และเจเนอรัล มอเตอร์สำหรับการรองรับตลาดสหรัฐอเมริกา ส่วนในยุโรปเบนซ์ร่วมมือกับ บีเอ็มฯ คาดว่าอีกไม่นานคงจะเห็นผล

สำหรับช่วงที่สาม ซึ่งเป็นเป้าหมายของหลายๆ ค่ายรถยนต์คือ การไม่พึ่งพาเชื้อเพลิงที่มาจากฟอสซิลหรือน้ำมัน โดยใช้เชื้อเพลิง ไฮโดเจนหรือฟิวเซลล์ และพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งนี้เราคาดว่าจะต้องทำให้สำเร็จได้ก่อนที่น้ำมันจะหมดไปจากโลกนี้ เพราะเราคือบริษัทฯ ผู้ผลิตรถยนต์
อี 320 ซีดีไอ บลูเทค
-ดีเซล บลูเทค คืออะไร?

บลูเทค คือเทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพให้เครื่องยนต์ดีเซล มีการเผาไหม้สมบูรณ์มากกว่าเดิม และมีมลพิษต่ำ โดยผ่านมาตรฐานไอเสีย ยูโร4 ที่เข้มงวด และตอบรับกับกระแสน้ำมันราคาแพงในช่วงเวลานี้ เนื่องจากเทคโนโลยีดีเซล บลูเทค สามารถประหยัดน้ำมันเชื่อเพลิงกว่าเครื่องยนต์เบนซินตั้งแต่ 20-40% ปัจจุบันมีติดตั้งอยู่ในรุ่น อี 320 ซีดีไอ และรถต้นแบบ จีแอล 320 บลูเทค

-หลักการทำงานของบลูเทค

เริ่มจากทำให้เครื่องยนต์เผาไหม้สมบูรณ์ที่สุด โดยใช้ระบบคอมมอนเรลไดเรคอินเจคชั่น เจนเนอเรชั่นที่ 3 พร้อมหัวฉีด Piezoeletric (ในรุ่นเครื่องเทอร์โบจะเป็นหัวฉีดเทอร์ไบน์แบบแปรผัน) ลดปริมาณไอเสียให้น้อยที่สุด แล้วฟอกไอเสียผ่าน oxidizing catalytic converter จากนั้นไอเสียจะผ่านกระบวนการกรองอนุภาค (Particulate Filter) สามารถลดเขม่าและควันเสียได้มากกว่า 98%

สุดท้ายทำการลดไนโตเจนอ๊อกไซด้ด้วยกระบวนการ Selective Catalytic Reduction (SCR) โดยการเติมสารเหลวชื่อ AdBlue เข้าไปทำปฏิกิริยากับไอเสีย เพื่อลดไนโตรเจนอ๊อกไซด์ลงมากกว่า 80% ผลทำให้ไอเสียผ่านมาตรฐานยูโร 4 สำหรับสาร AdBlue จะมีอายุการใช้งานนานถึง 25,000 กม. และค่าใช้จ่ายเติมต่อครั้งประมาณ 1,000 บาทเท่านั้น

-จะทำตลาดในไทยหรือไม่

เครื่องยนต์ดีเซล บลูเทค จะต้องมาควบคู่กับ น้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 4 ที่มีกำมะถันต่ำกว่า 50 พีพีเอ็ม ซึ่งปัจจุบันน้ำมันดีเซลในประเทศไทย มีค่ากำมะถัน 350 พีพีเอ็ม และภาครัฐเองยังไม่กำหนดมาตรฐานน้ำมันยูโร 4 ออกมาบังคับ ฉะนั้นแม้เบนซ์จะมีความพร้อมในการทำตลาด แต่หากขาดเชื้อเพลิงดังกล่าว รถจะไม่สามารถใช้งานได้

อย่างไรก็ตามในอนาคต มาตรฐานไอเสีย ยูโร 5-6 จะถูกบังคับใช้แน่นอน ดังนั้นหากประเทศไทยปรับตัวช้า อาจจะทำให้เสียโอกาสการเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ของภูมิภาคนี้ ถ้าเป็นไปได้ภาครัฐควรกำหนดมาตรฐานออกมาบังคับอย่างเป็นรูปธรรมในเวลารวดเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น