xs
xsm
sm
md
lg

โบรกฯค้านแนวคิดห้ามเชียร์หุ้นปั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โบรกเกอร์สวนกลับแนวคิดควบคุมแนะนำเชียร์หุ้นปั่น ชี้หากทำได้ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ขั้นตอนในการปฏิบัติเป็นไปได้ยาก จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกำหนดกฎเกณฑ์และลักษณะของหุ้นประเภทนี้ให้ชัดเจนเสียก่อน ระบุนักลงทุนส่วนใหญ่รับรู้และยอมรับความเสี่ยงในการลงทุนประเภทนี้ได้ พร้อมแนะนำต้องจัดการกับข่าวลือ เลิกใช้ภาษากฎหมายที่ตีความแบบกว้าง และตลาดหลักทรัพย์ฯควรนำร่องในเรื่องนี้ เพราะรับรู้ข้อมูลค่ำสั่งซื้อขายที่ผิดปกติได้ก่อนใคร แถมคาดเมื่อเริ่มดำเนินการจริงวอลุ่มซื้อขายหดตัวแน่

หลังจากที่สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ มีแผนที่จะเน้นจรรยาบรรณ และควบคุมนักวิเคราะห์ และเจ้าหน้าที่การตลาด (มาร์เกตติ้ง) ไม่ให้แนะนำหุ้นที่มีความเสี่ยงสูง หรือหุ้นปั่น ที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ แก้นักลงทุนนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจากการลงทุนนั้น

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์รายหนึ่ง กล่าวให้ความเห็นว่า นับเป็นสิ่งที่ดี หากสามารถดำเนินการได้จริงตามที่สมาคมฯวางแผนเอาไว้ แต่ปัญหาสำคัญคือเรื่องนี้นับเป็นเรื่องที่ยากต่อการปฏิบัติจริงโดยต้องกับไปถามผู้ที่ดูแลว่า แล้วอะไรคือหุ้นปั่น และหุ้นที่พื้นฐานไม่ดีจะเป็นหุ้นได้หมดเลยหรือ อีกทั้งสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นน่าจะมาจากหุ้นปั่นที่มีพื้นฐานรองรับมากกว่า

“การลงทุนในหุ้นปั่นถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของนักลงทุน ซึ่งนักลงทุนบางส่วนที่ชื่นชอบการลงทุนแบบนี้ ย่อมรับรู้กับความเสี่ยงจากการลงทุนที่ตนต้องรับได้ไว้ก่อนอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่านักลงทุน 100 คนที่ลงทุนในหุ้นปั่นจะไม่มีความรู้และความเข้าใจในความเสี่ยงของหุ้นตัวนี้ทั้งหมด มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่โดดเข้ามาร่วมตามกระแส และไม่ยอมศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน รวมทั้งไม่ได้ขอความเห็นจากเรา”

ทั้งนี้ในส่วนหุ้นปั่นที่มีพื้นฐานรองรับนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า เป็นเรื่องที่อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลด้วย เพราะเรื่องนี้ก็สร้างผลกระทบให้กับนักลงทุนได้เช่นกัน เนื่องจากหุ้นเหล่านี้จะมีปัจจัยสนับสนุน มีขั้นตอน มีสตอรี่ของเรื่อง มีการออกข่าวมาจากบริษัทเพื่อกระตุ้น มีการใช้ช่องทางผ่านสื่อต่างๆเพื่อนำเสนอข่าว มีการประชาสัมพันธ์ชักชวนให้คนเข้ามาลงทุน ซึ่งตรงนี้น่าเป็นห่วงมากกว่า เพราะเป็นการปั่นราคาหุ้นในลักษณะแอบแฝง โดยอาศัยข้อมูลที่มีแต่ด้านดีในการนำเสนอเท่านั้น ไม่ครบถ้วนในทุกด้าน

“หากจะให้เริ่ม ต้องถามกลับไปว่าแล้วอะไรเป้นเกรณฑ์ในการกำหนด ว่าหุ้นนั้นเป็นหุ้นปั่น หุ้นที่ขนาดทุนมานานและแนวโน้มในอีก 1-2ปีข้างหน้าจะเริ่มมีกำหนดนั้นถือว่าเป็นหุ้นปั่นหรือไม่ เรื่องนี้หากต้องการให้ทำเชื่อว่านักวิเคราะห์ทุกคนก็พร้อมที่จะแนะนำหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีอยู่แล้ว เพียงแต่เกณฑ์ในการกำหนดหุ้นปั่นที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ทีกำกับดูแลยังไม่เห็นความชัดเจนในเรื่องนี้เลย”นักวิเคราะห์ให้ความเห็น

ขณะเดียวกัน ส่วนหนึ่งที่ควรทำความเข้าใจนั่น หากมีการควบคุมการแนะนำหุ้นปั่นต่อนักลงทุนจริง จะมีผลกระทบไปถึงมูลค่า-ปริมาณซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ด้วย เพราะบางครั้งแรงลงทุนในหุ้นประเภทนี้ช่วยผลักดันมูลค่า-ปริมาณซื้อขายในตลาดเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งรายได้จากการจัดเก็บค่าคอมมิสชั่นของบริษัทจดทะเบียนต่อวันอาจปรับตัวลดลง

“เรื่องนี้อาจมีผลกระทบต่อมูลค่าซื้อขาย ส่งผลต่อเจ้าหน้าที่การตลาด ในด้านวอลุ่มที่ซื้อขายลดลง เจ้าหน้าที่ทุกคนไม่ต้องการแนะนำนักลงทุนเข้ามาถือแต่หุ้นปั่นอยู่แล้ว แต่นักลงทุนหลายรายยังชื่นชอบการลงทุนแบบนี้ และยอมรับความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าวได้”

ทั้งนี้ แหล่งข่าวมองว่า หากมีการกำหนดเกณฑ์ที่ชัดเจนสำหรับหุ้นปั่นขึ้นมาแล้ว เรื่องดังกล่าวก็สามารถปฏิบัติได้ แต่อีกส่วนต้องมองกลับไปที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าเมื่อรู้ว่ามีหุ้นไม่ดีเข้าอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แล้วจะปล่อยให้หุ้นเหล่านี้เอาไว้ทำไม เพราะหุ้นบางตัว เห็นว่าราคามีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ แต่บางครั้งตลท.เองกลับทำเพิกเฉย จึงเหมือนกับเป็นการเลือกปฏิบัติไม่ให้ความเท่าเทียมกันกับหุ้นอื่นๆที่โดนเข้าข่าย

นอกจากนี้ แหล่งข่าวมองว่า การควบคุมหุ้นปั่นนั้นสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯเอง เพราะตลท.จะรับรู้ข้อมูลคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ในรูปแบบต่างๆทุกวันอยู่แล้ว ซึ่งนั่นหมายถือเมื่อมีคำสั่งซื้อขายที่ผิดปกติเข้ามา ตลาดหลักทรัพย์ย่อมรู้เรื่องนี้ก่อนใคร และสามารถดำเนินการจัดการเอาผิด หรือระงับเหตุที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที โดยสามารถดำเนินการตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้ ดังนั้นกฎหมายหรือข้อบังคับบางอย่างของตลาดหุ้นไทยเอง ก็ควรที่จะมีการปรับปรุงให้สอดรับกับเรื่องนี้ให้ได้ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีบางครั้งที่หลักทรัพย์บางตัว ราคามีการเปลี่ยนแปลงจนผิดสังเกตุ แต่ตลท.ไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งเรื่องนี้บางทีอาจเกิดจากตัวผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนเอง แต่ใช้วิธีในรูปแบบให้คนอื่นเข้ามาดำเนินการแทนในรูปแบบ นอมินี จึงทำให้การตรวจสอบเป็นไปได้ยาก จึงถือเป็นอีกจุดหนึ่งที่ควรแก้ไขด้วย

แหล่งข่าวอีกรายหนึ่งกล่าวว่า การวิเคราะห์หุ้นของแต่ละบริษัทในปัจจุบันตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องประกอบด้วยเหตุผลและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรายวันที่จะมีผลต่อราคาหุ้นของบริษัทนั้นอยู่แล้ว แต่ในบ้างครั้งอาจตกเป็นเครื่องมือของนักลงทุนบางกลุ่มที่มีการสร้างข่าวลือที่ไม่เป็นความจริง ส่งผลให้นักวิเคราะห์บางท่านถูกกล่าวหาว่าทำการปั่นหุ้น แต่ข้อมูลบางชนิดนักวิเคราะห์ไม่สามารถทราบได้เลยว่าเป็นความจริงหรือไม่ เนื่องจากผู้ที่ต้องการสร้างข่าวลืออาจกระทำการอย่างแนบเนียนจนไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงกลายเป็นว่านักวิเคราะห์ท่านนั้นมีการเชียร์หุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไปและกลายเป็นการปั่นหุ้นในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวอยากให้ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะของหุ้นบริษัทที่เข้าข่ายหุ้นปั่นที่ชัดเจน และไม่ควรใช้ภาษาทางกฎหมายที่มีความหมายกว้างๆ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาในด้านการตีความที่หลากหลาย เพื่อให้นักวิเคราะห์สามารถให้ข้อมูลกับนักลงทุนและจัดทำบทวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้อง

อนึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์มีแผนจะเพิ่มงานใหม่อีก 3 เรื่องในปี 2552 คือ เน้นในเรื่องจรรยาบรรณของบุคลากรในธุรกิจหลักทรัพย์ ในส่วนนักวิเคราะห์ และเจ้าหน้าที่การตลาด (มาร์เกตติ้ง) เพราะ ปัจจุบันมีมาร์เกตติ้งของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หลายแห่งแนะนำให้ลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงสูง หรือ หุ้นปั่น โดยที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ เพราะมองว่าการแนะนำให้ลงทุนในหุ้นดังกล่าวนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยไม่พัฒนาเท่าที่ควร ดังนั้นนักวิเคราะห์ควรออกมาให้ความเห็นว่าหุ้นตัวไหนน่าสงสัยหรือไม่น่าลงทุน ขณะที่มาร์เกตติ้งเองจะต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้องแก่นักลงทุน ไม่เชียร์ให้ซื้อขายหุ้นปั่น โดยทางสมาคมนักวิเคราะห์จะเป็นตัวกลางในการเตือนนักลงทุน โดยจะมีการให้นักวิเคราะห์ไปสัมภาษณ์ผู้บริหาร เข้าเยี่ยมชมบริษัทที่มีการเคลื่อนไหวอย่างผิดปกติ เพื่อนำบทวิเคราะห์มาเสนอให้นักลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน

สำหรับเรื่องที่ 2 คือ การให้ความรู้แก่นักวิเคราะห์ในสินค้าใหม่ๆ เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ฯ มีสินค้าใหม่ๆเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต และเรื่องสุดท้าย จะเน้นให้บริษัทจดทะเบียนมีการเปิดเผยข้อมูล โดยจะให้นักวิเคราะห์เข้าไปพบกับผู้บริหารและเยี่ยมชมบริษัทที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนที่ไม่ให้ความร่วมมือกับนักวิเคราะห์ เพื่อทำให้นักลงทุนทราบข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนประกอบการตัดสินใจในการลงทุน และทำให้บริษัทมีความโปร่งใสมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น