xs
xsm
sm
md
lg

ASP เล็งออกวอร์แรนต์อนุพันธ์ 1 พัน ล.เพิ่มพอร์ตลงทุนหุ้นไซส์กลางตอบแทนดี-กระจายรายได้ลดเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บล.เอเซียพลัส เตรียมออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ มูลค่าไม่เกิน 1 พันล้านบาท คาด ได้ข้อสรุปครึ่งหลังปีนี้ พร้อมกับยกเลิกแผนออก Structure Notes หลังดัชนีอ้างอิงร่วงแรง “ก้องเกียรติ” เผยเพิ่มพอร์ตการลงทุนกว่าปีที่ผ่านมา หลังราคาหุ้นต่ำและผลตอบแทนสูง คาดรายได้และกำไรเพิ่มเล็กน้อย หลังมีงาน IB เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP เปิดเผยว่า บริษัทมีแนวคิดที่จะออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrant) หรือวอร์แรนต์อนุมพันธ์มูลค่ารวมไม่เกิน 1 พันล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ ASP ส่วนดัชนีที่จะอ้างอิงและระยะเวลาที่จะเสนอขายคาดว่าจะได้ข้อสรุปในครึ่งหลังปีนี้

“บริษัทได้ยกเลิกแผนการออก Structure Notes ที่อ้างอิงกับดัชนีตลาดฮ่องกง จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มออกขายได้ในช่วงไตรมาส 4/51 เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาดัชนีที่อ้างอิงปรับลงอย่างรุนแรงจนทำให้จำเป็นต้องยกเลิกแผนดังกล่าว” นายก้องเกียรติ

สำหรับในปี 2552 ทางบริษัทเตรียมเพิ่มพอร์ตการลงทุนในหุ้น ซึ่งจากเดิมที่จะเน้นไปยังหุ้นที่มีขนาดใหญ่ อาทิ บมจ.ปตท.(PTT) มาเป็นเน้นหุ้นขนาดกลางที่มีอัตราผลตอบแทน (Dividend Yield) อยู่ที่ระดับ 7-8% โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มค้าปลีก อาหาร ไอซีที โดยจะเป็นการลงทุนในระยะยาว 3 ปีขึ้นไป เนื่องจากมองว่าหุ้นในกลุ่มดังกล่าวมีราคาต่ำและให้ผลตอบแทนอยู่ในเกณฑ์ระดับสูง

โดยลักษณะการดำเนินงานของบริษัทนั้น จะพยายามกระจายฐานรายได้ให้หลายรูปแบบ เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องการรายได้ที่มาจากธุรกิจเดียวหรือฐานรายได้จากแหล่งใดแหล่งหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ปีนี้เตรียมจะปรับลดสัดส่วนรายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ให้อยู่ที่ 50% จากปี 50 ที่มีสัดส่วน 68% และรายได้จากการลงทุนมาเป็น 20% จากปี 50 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 8% ขณะเดียวกัน เตรียมเพิ่มสัดส่วนรายได้จากวาณิชธนกิจเป็น 10% จากปี 50 อยู่ที่สัดส่วน 5% และรายได้จากการให้คำแนะนำการลงทุนกับลูกค้าเป็น 15% จากปี 50 อยู่ที่ 10% ขณะที่รายได้ส่วนอื่นๆลดลงเหลือ 5% จากปี 50 อยู่ที่ 9%

สำหรับ ส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เกตแชร์) ในส่วนของการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์นั้น จากการตรวจสอบในช่วงตั้งแต่ต้นปี 2552 จนถึงปัจจุบันพบว่ามีมาร์เกตแชร์อยู่ที่ 5.47% จึงคาดการณ์ว่ามาร์เกตแชร์ของปี 2552 น่าจะใกล้เคียงกับปี 2551 ที่มีมาร์เกตแชร์ที่ 5% โดยมาร์เกตแชร์ในส่วนนี้เป็นการประเมินอย่างไม่เป็นทางการ เนื่องจาก ASP ไม่ได้มีนโยบายเน้นปล่อยวงเงินสินเชื่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ (Margin Loan) ให้กับหุ้นขนาดเล็กที่มีการเก็งกำไรสูง เพื่อป้องกันความเสียหาย ซึ่งโดยปกติแล้วทางบริษัทจะมีนโยบายปล่อย Margin Loan อยู่ที่ไม่เกิน 30% ของฐานเงินทุน 3 พันล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 900 ล้านบาท

ทั้งนี้ ประเมินว่า รายได้และกำไรของบริษัทในปีนี้น่าจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากปีก่อนที่มีรายได้ที่ 1.36 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 211 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากที่ผ่านมามีดีลงานด้านวาณิชธกิจ (IB) เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีงานด้าน M&A ซึ่งคาดว่าจะสามารถจบดีลได้ภายปีนี้ประมาณ 4-5 ดีล ตลอดจนมีงานที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) /ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) อีกประมาณ 5-7 ดีล รวมถึงมีดีลงานด้าน PP/PO อีก 2-3 ดีล ส่วนงานด้านไอพีโอคาดว่าในปีนี้จะมีแนวโน้มปรับลดลง

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวมองว่ามูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเฉลี่ยทั้งปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 1.4 หมื่นล้านบาท/วัน จากปีก่อนที่มีวอลุ่มเฉลี่ย 1.6 หมื่นล้านบาท ลดลง 0.2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 12.5% โดยเชื่อว่าในครึ่งปีแรกน่าจะเป็นช่วงที่เลวร้ายที่สุดจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา แต่คาดว่าช่วงครึ่งปีตลาดจะเริ่มฟื้นตัว อันเป็นผลมาจากการลงทุนในรูปแบบอื่น เช่น การฝากเงินในธนาคารพาณิชย์ลดลง จึงน่าจะทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่แสวงหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่ให้ผลตอบแทนสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น