xs
xsm
sm
md
lg

โบรกฯปิดสาขาลดต้นทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วงการตลาดทุนชี้ บริษัทหลักทรัพย์เตรียมปิดสาขา เหตุ ลดต้นทุนการดำเนินงานช่วงภาวะตลาดหุ้นซบ 2 เดือนแรก ปิดรวม 9 สาขา จาก 8 บล. ด้านบล.แอ๊ดคินซัน ปิดมากสุด 3 สาขา ด้านผู้บริหารแจง เป็นการควบรวมสาขาใกล้เคียงเพื่อลดค่าใช้จ่าย แม้ยังมีสาขาขาดทุนขณะนี้ยังไม่ปิดเพิ่ม รอประเมินสถานการณ์ก่อน มนตรี ชี้ มีโอกาสโบรกเกอร์ปิดสาขา แจงยังไม่มีแผนปิดแม้มีถึง 40 สาขา จากคุมต้นทุน-ยังมีกำไรหากวอลุ่มเฉลี่ยต่อวัน 8 พันล้านบาท

จากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า ในระยะเวลา 2 เดือนแรกของปี 2552 นี้ ได้มีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) จำนวน 8 แห่ง ประกาศปิดสาขารวมจำนวน 9 สาขา แบ่งเป็นปิดสาขาในเดือนมกราคมจำนวน 5 สาขา จาก 4 บล. ประกอบด้วย บล.แอ๊ดคินซัน ปิด 2 สาขา ที่จังหวัดเชียงใหม่ สมุทรปราการ บล.ธนชาต 1 สาขา ที่จังหวัดขอนแก่น บล.สินเอเชียปิด 1 แห่ง สาขาเอ็มโพเรี่ยม และบล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ปิดสาขาบางรัก

ขณะที่ในเดือนกุมภาพันธ์ มีบล.ปิดสาขา 4 แห่ง รวมจำนวน 4 สาขา ได้แก่ บล.แอ๊ดคินซัน ปิดสาขา ธนาลัยเชียงราย บล.ซิกโก้ ปิดสำนักงานสาขาเชียงใหม่ บล.ฟาร์อีสต์ ปิดสาขาสุขุมวิท บล.แมคควอรี ปิดสาขา เขตบางรัก เพื่อไปเปิดสาขาใหม่ที่เขตปทุมวัน ส่วนบล.ที่เปิดสาขาเพิ่ม คือ บล.บีฟิท แต่เป็นสาขาออนไลน์สาขาสมาคมนักบินไทย และ บล.ฟินันซ่า เปิดสาขาพระราม 9

นายสุรพล ขวัญใจธัญญา รองประธานกรรมการบริหาร และกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ แอ๊ดคินซัน จำกัด (มหาชน) หรือ ASL เปิดเผยว่า จากภาวะตลาดหุ้นไทยไม่ดี วอลุ่มการซื้อขายเบาบางนั้น ทำให้บล.ต่างๆจะต้องมีการควบคุมค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนการดำเนินงาน บริหารจัดการสาขาที่ดี หากบล.ใดมีสาขาที่มากเกินไป ต้องมีการลดสาขาหรือควบรวมสาขาที่อยู่ใกล้เคียงกัน หรือไม่สาขาไหนมีขนาดที่ใหญ่ก็จะมีการลดขนาดสาขาลงมาเพื่อที่จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ รวมถึงจะต้องมีการพัฒนาบุคคลากรให้ความความพร้อมในช่วงที่ภาวะตลาดหุ้นขาขึ้น

“บล.นั้นแข่งขันกันที่ต้นทุน ซึ่งทุกแห่งต้องมีการควบคุมต้นทุนและลดค่าใช้จ่ายที่เกิดความจำเป็นในช่วงที่ภาวะตลาดหุ้นขาลง มีการลดสาขาเพื่อให้เหมาะสมเพียงพอ หากสาขาไหนมีขนาดใหญ่เกินไปก็ลดขนาดลงมาเพื่อลดค่าเช่า มีการลดจำนวนพนักงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่ในส่วนเจ้าหน้าที่การตลาดควรที่จะเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะได้ชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุนในหุ้น มีปัจจัยพื้นฐานดีมีการจ่ายเงินปันผลที่ดี 5-6% ซึ่งสูงกว่าเงินฝากที่ 1-2% หาสินค้าใหม่เพิ่มธุรกรรม”นายสุรพล กล่าว

ทั้งนี้ ในปีนี้บริษัทได้มีการปิดสาขาไปแล้ว 3 สาขา คือ สาขาสุราษฎร์ธานี สมุทรปราการ และเชียงราย ซึ่งเป็นลักษณะการควบรวมสาขากับสาขาใกล้เคียงเพื่อที่บริษัทจะต้องไม่เสียลูกค้า และบริษัทได้มีการลดขนาดสาขาที่พัทยาจากเดิมที่มีพื้นที่ใหญ่ ลดลงเหลือขนาดกลาง โดยปัจจุบันบริษัทมี 35 สาขา จากก่อนหน้านี้ที่ทยอยปิดจาก 65 สาขาในปีก่อน

ปัจจุบันแม้บริษัทจะมีสาขาที่มีผลขาดทุนแต่ยังไม่คิดที่จะมีการปิดสาขาดังกล่าว เพราะขณะนี้เป็นภาวะที่ไม่ปกติจากนักลงทุนชะลอการลงทุนจึงทำให้มีผลขาดทุน ซึ่งต้องรอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง แต่เชื่อว่าผู้จัดการสาขาจะพยายามหาแนวทางสร้างผลกำไรให้กับสาขา โดยปัจจุบันบริษัทมองว่า 35 สาขาเป็นจำนวนที่เหมาะสมกับบริษัท แต่หากสาขาใดไม่สร้างกำไรทำให้ต้องมีการปิดสาขาลงก็จะการควบรวมกับสาขาใกล้เคียงกันเพื่อไม่ให้เสียฐานลูกค้า

นายสุรพล กล่าวว่า ในช่วงภาวะตลาดไม่ดีขณะนี้นั้นนักลงทุนควรที่จะหันไปลงทุนในตลาดอนุพันธ์ เนื่องจากสามารถลงทุนและสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในช่วงภาวะตลาดหุ้นขาลง และขาขึ้น เพราะหากลงทุนในหุ้นนั้นจะสร้างกำไรลำบากที่ราคาหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากที่ถูกกดดันจากปัจจัยลบและหากจะลงทุนในหุ้นควรเลือกลงทุนในหุ้นปัจจัยพื้นฐานที่มีการจ่ายเงินปันผล ซึ่งในช่วงนี้เป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียนมีการจ่ายเงินปันผลซึ่งหากเข้าไปลงทุนก่อนที่จะมีการขึ้นเครื่องหมายXD จะทำให้สามารถตอบที่ดีที่ได้ในช่วงระยะเวลาอันสั้นนี้

สำหรับงานด้านที่ปรึกษาทางการเงินในช่วงนี้ ทำให้มีงานด้านการควบรวมกิจการ การเป็นที่ปรึกษาในการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นที่ปรึกษาในการออกตราสารหนี้ และที่ปรึกษาอิสระมากขึ้นแ โดยปัจจุบันมีงานควบรวม 2-3 ราย ซึ่งคาดว่าจะเสร็จ 1 รายในไตรมาส 3/52 และอีก 1 รายในไตรมาส 4/52 ขณะที่มีงานการเป็นที่ปรึกษาการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยอีก 2-3 บริษัท

**กิมเอ็งฯ มั่นใจบล.ปิดสาขาเพิ่ม

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากมูลค่าการซื้อขายเบาบางนั้นส่งผลกระทบทำให้รายได้ของบล.ลดลง โดยบล.ที่จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้นั้นจะต้องมีโครงสร้างต้นทุนที่ต่ำไม่มากเกินไป โดยหากมีต้นทุนที่สูงเกินไปก็จะต้องมีการลดค่าใช้จ่ายลง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะมีบล.ต่างๆจะมีการปิดสาขาลงเพื่อเป็นการลดต้นทุนการดำเนินงานลง

ทั้งนี้ ปัจจุบันบล.กิมเอ็งมีสาขารวมทั้งสิ้น 40 สาขา และยังไม่มีแผนที่จะปิดสาขา เนื่องจากสามารถควบคุมต้นทุนได้ ซึ่งยังคงมีกำไรอยู่หากวอลุ่มซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ 8,000 ล้านบาทต่อวัน และบริษัทจะมีการหาสินค้าใหม่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนที่หลากหลายให้กับนักลงทุน อย่างไรก็ตาม การที่ภาวะตลาดหุ้นปรับตัวลดลงนั้นถือว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนที่ยังไม่มีการลงทุนในหุ้นที่จะเข้ามาลงทุนได้ในราคาต่ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น