xs
xsm
sm
md
lg

ตลท.-3สมาคมถกแก้หุ้นซบงัดมาตรการเพิ่มสภาพคล่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดหลักทรัพย์ฯ แจงผลหารือร่วม 3 สมาคม เล็งคลอดสินค้าใหม่ๆ ดึงลูกค้าเงินฝากแบงก์ พร้อมปันฝุ่นโครงการให้พนักงานบจ.ลงทุนหุ้นบริษัทของตนเอง ขณะเดียวกันหนุนบล.เป็นมาร์เกตเมกเกอร์สร้างสภาพคล่องหุ้นไทย ประเดิมหุ้นไอพีโอก่อน หวังสร้างความน่าสนใจนักลงทุนเทรดหุ้นและเพิ่มมูลค่าการซื้อขาย ด้าน “กัมปนาท” นายกสมาคมบล. รับลูก เตรียมหารือกับสมาชิกวางกรอบเพิ่มสภาพคล่องตลาดหุ้น

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผย ภายหลังการหารือร่วมกับกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ (บล,) สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ว่า การหารือครั้งนี้เป็นการหามาตรการกระตุ้นมูลค่าการซื้อขายให้มากขึ้นจากปัจจุบันมูลค่าการซื้อขายปรับตัวลดลง ซึ่งการหารือจะเน้นในเรื่องการสร้างความน่าสนใจหรือโอกาสให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตัวแทนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือ โดยมีนายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นประธานในการประชุมที่จะสร้างสภาพคล่องการซื้อขายในตลาดหุ้นไทย ซึ่งสภาพคล่องมีความสำคัญในการลงทุนตลาดหุ้นไทย”นางภัทรียา กล่าว

สำหรับกลุ่มนักลงทุนที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการให้เข้ามาลงทุน คือ กลุ่มลูกค้าฐานเงินฝากของสถาบันการเงิน โดยให้ทางสมาคมบลจ.ไปหารือว่าจะออกสินค้า ตราสาร ที่มีความเสี่ยงต่ำและตรงกับความต้องการลงทุนของกลุ่มนักลงทุนฐานเงินฝาก เพื่อเป็นแรงจูงใจในการเข้ามาลงทุนจากผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากจากดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลง

ส่วนการจัดตั้งกองทุนแมทชิ่งฟันด์ ที่ตลาดหลักทรัพย์ได้อนุมัติวงเงินจัดตั้งไปแล้วนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำงานร่วมกับสมาคมบลจ.ผลักดันให้มีการระดมทุนเงินจากนักลงทุนเข้ามาลงทุนในหุ้นดังกล่าวมากขึ้น

นางภัทรียา กล่าวว่า พนักงานของบริษัทจดทะเบียนยังเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายนอกจากลูกค้าเงินฝาก โดยจะนำโครงการให้พนักงานบจ.เข้ามาลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ทำงานอยู่ จากเดิมที่ติดปัญหาในเรื่องภาษีการลงทุน ซึ่งทางสมาคมโบรกเกอร์จะมีการทำงานร่วมกับสมาคมบจ.ในการดำเนินการโครงการดังกล่าว ซึ่งจะสามารถเพิ่มฐานลูกค้าจากโครงการนี้ได้อีกกว่า 1 แสนราย

ด้านการเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นนั้น นางภัทรียา กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะให้มีผู้ดูแลสภาพคล่อง (มาร์เกตเมคเกอร์) ในตลาดหุ้น โดยจะเริ่มดูและสภาพคล่องให้กับหุ้นที่เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ก่อน หลังจากนั้นจะเข้ามาดูและสภาพคล่องการซื้อขายให้กับหุ้นที่มีการซื้อขายต่ำ โดยเรื่องนี้ยังมีข้อติดขัดอยู่ จึงได้มอบหมายให้สมาคมบล. นำกลับไปหารือกับบริษัทสมาชิกเพื่อนดำเนินการดังกล่าว

พร้อมกันนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ผลักดันเรื่องการแก้ไขเกณฑ์การซื้อหุ้นคืน โดยให้สามารถขายคืนหุ้น และสามารถเพิ่มทุนลดลงทุนโดยไม่จำกัดระยะเวลา เพื่อสนับสนุนให้บจ.มีการซื้อหุ้นคืนมากขึ้น จากปัจจุบันเกณฑ์กำหนดให้บจ.ซื้อหุ้นคืนจะสามารถเพิ่มทุน หรือขายหุ้นออกมาได้หลังครบระยะเวลาโครงการซื้อหุ้นคืนเท่านั้น ทำให้บจ.มีปัญหาระหว่างซื้อหุ้นคืนต้องการที่จะเพิ่มทุนเพื่อระดมทุนเงินทุนใหม่ไม่ได้ ทำให้มีบจ.ซื้อหุ้นคืนน้อยแม้ราคาหุ้นจะมีการปรับตัวลดลงมาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีมากแล้ว

ขณะเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเพิ่มสินค้าใหม่ในตราสารอนุพันธ์มากขึ้น หลังจากพบว่าในปีที่ผ่านมาการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์มีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 60% และหากมีสินค้าใหม่ๆเข้ามามากขึ้นจะทำให้มีมูลค่าการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์มากขึ้น โดยสินค้าต่อไปจะมีการออกคือ ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) และฟิวเจอร์ที่อ้างดองดอกเบี้ย เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้กับนักลงทุนมากขึ้น

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะขอความร่วมมือจากสมาคมนักวิเคราะห์ให้ออกบทวิเคราะห์หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีมากขึ้น เพื่อให้นักลงทุนทราบข้อมูลและเข้ามาลงทุน จากปัจจุบันนั้นมีหุ้นที่ไม่ได้อยู่ในSET 50 จำนวนมากให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงถึง 10% หากนักวิเคราะห์มีการนำหุ้นดังกล่าวมาแนะนำจะสร้างความน่าสนใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนมากขึ้น

“ตลาดหลักทรัพย์ฯจะทบทวนประมาณการมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่ 1.3-1.8 หมื่นล้านบาทต่อวัน แต่จะต้องรอพิจารณามูลค่าการซื้อขายในไตรมาสแรกปี 52 ก่อน” นางภัทรียา กล่าว

นายกัมปนาท โลหเจริญวนิช กรรมการอำนวยการ บล. ทรีนีตี้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า มูลค่าการซื้อขายหุ้นที่ลดลงเกิดจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทย หลังจากนักลงทุนต่างประเทศเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง จากวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลก จึงจำเป็นที่จะต้องให้กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศและรายย่อยเข้ามาลงทุนมากขึ้น

“สมาคมบล. ได้รับเรื่องที่จะให้บล.เข้ามาทำหน้าที่เป็นมาร์เกตเมคเกอร์ในการเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้น เพื่อสร้างความน่าสนใจเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น โดยสมาคมโบรกเกอร์จะหารือกับบริษัทสมาชิกถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับ หากเข้ามาทำหน้าที่เป็นมาร์เกตเมคเกอร์ เช่น ประโยชน์ด้านค่าธรรมเนียมการซื้อขาย หรือประโยชน์อื่นๆ ที่ต้องการได้รับการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ”

พร้อมกันนี้ สมาคมจะนำเสนอให้คณะกรรมการพัฒนาตลาดหุ้นไทยช่วยผลักดันการยกเว้นภาษีกำไรจากการขายหุ้นให้แก่บริษัทจดทะเบียนที่จะเข้าไปลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนอื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น

“มาตรการดังกล่าวนั้นเป็นมาตรการระยะสั้นที่หวังผลในระยะยาว โดยทางตลาดหลักทรัพย์ฯ และสมาคมโบรกเกอร์ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะหารือและประเมินผลร่วมกันทุกๆ 3 เดือน รวมถึงพิจารณาว่าจำเป็นต้องมีมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมหรือไม่”
กำลังโหลดความคิดเห็น