xs
xsm
sm
md
lg

รายได้รัฐ5เดือนต่ำเป้า8.8หมื่นล.วิกฤตลามกระทบใช้จ่ายบริโภค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลังเผยผลจัดเก็บรายได้เดือนกุมภาพันธ์ 8.2 หมื่นล้านบาทต่ำกว่าเป้าถึง 2.3 หมื่นล้านบาท ส่งผล 5 เดือนแรกรายได้หลุดเป้า 8.8 หมื่นล้านบาท ระบุภาวะเศรษฐกิจซบฉุดยอดบริโภคลดภาษี VAT ต่ำกว่าประมาณการถึง 3.4 หมื่นล้านบาท ยันดูแลฐานะทางการคลังและรักษาวินัยทางการคลัง เพื่อรักษาการใช้จ่ายของรัฐบาลให้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2552 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 8.24 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ2.34 หมื่นล้านบาท หรือ 22.2% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีรถยนต์ และอากรขาเข้าโดยภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1.42 หมื่นล้านบาท หรือ 32.1% เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าสินค้าต่ำกว่าประมาณการถึง 50% ซึ่งสอดคล้องกับผลการจัดเก็บอากรขาเข้าที่ต่ำกว่าประมาณ การ 2.6 พันล้านบาท หรือ 35.5%

นอกจากนั้น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคในประเทศก็ต่ำกว่า ประมาณการถึง 16.9% สำหรับภาษีรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 2.4 พันล้านบาท หรือ 47.6% เนื่องจากข่าวผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรถยนต์ขอปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อออกไปก่อน

สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 4.51 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8.85 หมื่นล้านบาท หรือ 16.4% ซึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีของ 3 กรมหลัก และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่ต่ำกว่าประมาณการ ประกอบกับการคืนภาษีของกรมสรรพากรที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง

ทั้งนี้ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้ กรมสรรพากร จัดเก็บได้รวม 3.66 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3.35 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 8.4% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่า ประมาณการที่สำคัญได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 3.42 หมื่นล้านบาท หรือ 15.8% สาเหตุสำคัญมาจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าและการบริโภคในประเทศที่ต่ำ ขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดายังต่ำกว่าประมาณการจำนวน 4.19 พันล้านบาท หรือ 4.9% เป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ลดต่ำลง แต่อย่างไรก็ตาม ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมและภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ

ด้านกรมสรรพสามิต จัดเก็บได้รวม 9.39 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3 หมื่นล้านบาท หรือ 24.6% โดยสาเหตุสำคัญมาจากการจัดเก็บภาษีน้ำมันที่ต่ำกว่าประมาณการ 1.9 หมื่นล้านบาท หรือ 57.9% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2552 และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 6.9 พันล้านบาท หรือ 25.7%

ขณะที่กรมศุลกากร จัดเก็บได้รวม 3.54 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 6.3 พันล้านบาท คิดเป็น 15.1% เนื่องจากอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่า ประมาณการ 6.4 พันล้านบาท หรือ15.8% เป็นผลจากการหดตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเป็นสำคัญ โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 6.1% และ 4.8% ตามลำดับ

ส่วนรัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 2.72 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 6.4 พันล้านบาท หรือ 19.2% โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ขอเลื่อนการนำส่งรายได้ออกไป รวมทั้ง บมจ.ทีโอที ยังไม่สามารถนำส่งเงินปันผลได้ และหน่วยงานอื่น นำส่งรายได้รวม 4 หมื่นล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2.9 พันล้านบาท หรือ 8.0% เนื่องจากในช่วงต้นปีงบประมาณ การจัดเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมยังได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันดิบที่ยังอยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้การคืนภาษีของกรมสรรพากรสูงถึง 9.53 หมื่นล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1.56 หมื่นล้านบาท หรือ 19.6% ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่าประมาณการ 9.3 พันล้านบาท หรือ 13.1% และการคืนภาษีอื่นๆ สูงกว่าประมาณการ 6 พันล้านบาท หรือ 76.3%

“จากผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 ที่ต่ำกว่าประมาณการ 8.85 หมื่นล้านบาท นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่หดตัวลงที่ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากนโยบายของรัฐบาลในการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันจาก 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน ในช่วงเดือนตุลาคม 2551- มกราคม 2552 อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังจะดูแลฐานะทางการคลังและรักษาวินัยทางการคลัง เพื่อรักษาการใช้จ่ายของรัฐบาลให้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง” นายสมชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น