xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ห่วงบทวิเคราะห์ “เครดิต ลียองเนส์” ทำลายความเชื่อมั่น ศก.ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกฯ ห่วงโบรกเกอร์ต่างชาติ ออกบทวิเคราะห์ โจมตี ศก.ไทย ติดลบ 9% ต่ำเกินจริง หยิบข้อมูลเก่าวิเคราะห์ ก่อนที่รัฐบาลจะมีการประกาศมาตรการกระตุ้น ศก. เร่งแจงข้อเท็จจริง หวั่นกระทบบรรยากาศการลงทุน ยืนยัน มีมาตรการชุดที่ 2 และชุดที่ 3 เอาไว้รับมือ หากผลกระทบ ศก.โลก รุนแรงกว่าที่คาดเอาไว้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ต่างชาติได้ออกบทวิเคราะห์โจมตีภาวะเศรษฐกิจไทยจะตกต่ำอย่างรุนแรง พร้อมคาดการณ์แนวโน้มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปี 2552 จะติดลบสูงถึง 9% นั้น นายกรัฐมนตรี ไม่เชื่อว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย ยังไม่เลวร้ายขนาดนั้น เพราะรัฐบาลจะพยายามรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะถดถอยจนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ ติดลบเกิน 5%

ดังนั้น การมองเศรษฐกิจไทยติดลบหนักถึง 9% เป็นการพิจารณาบนพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ไม่มีมาตรการใดๆ ออกมากระตุ้น ขณะที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่บทวิเคราะห์ดังกล่าว ไม่ได้นำข้อมูลที่อัพเดทไปคำนวน ทำให้ตัวเลขการประเมินเบี่ยงเบนไปจากข้อเท็จจริง เพราะสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้ ต้องประเมินกันเป็นรายวัน เพราะข้อมูลเปลี่ยนแปลงเร็วมาก

“ผมไม่ให้ติดลบถึง 9% หรอกครับ ผมไม่คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเศรษฐกิจโลกทรุดมากๆ ผมก็เชื่อว่าถ้าเราลบ 9% ทั่วโลกก็คงจะใกล้เคียงกันหมด หรืออาจหนักกว่า”

นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลได้เตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่ 2 และชุดที่ 3 เอาไว้แล้ว โดยติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกอยู่ตลอดเวลา และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนมาตรการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยวานนี้ บริษัทหลักทรัพย์เครดิต ลียองเนส์ ของฝรั่งเศส ได้ออกบทวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไทย โดยโจมตีว่า ไทยกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจติดลบอย่างมากในปีนี้ โดยบริษัทปรับคาดการณ์ใหม่จากเดิมจะติดลบ 5% เป็นติดลบ 9% ซึ่งเป็นการติดลบเกือบเท่าปี 2541 สาเหตุเพราะในการประเมินครั้งแรกต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งในช่วงนั้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้ว ของไทยยังไม่ออกมา

แต่เมื่อปรากฏว่า จีดีพีไตรมาส 4 ปี 2551 ออกมาติดลบถึง 6.1% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และหากคำนวณเทียบปีต่อปีเท่ากับว่าติดลบ 22% จากสถานการณ์ดังกล่าวประกอบกับการส่งออกในเดือนมกราคม 2552 เลวร้ายอย่างสุดขีด ส่งสัญญาณว่าไตรมาสแรกปีนี้จีดีพีจะหดตัวรุนแรงอีกครั้ง

รัฐบาลไทยได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ใหม่เป็น 0% แต่เมื่อพิจารณาจากปัจจัยทางเทคนิคดังกล่าวข้างต้นแล้ว การที่จีดีพีจะอยู่ที่ 0% ได้ต้องหมายความว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เศรษฐกิจไทยต้องพลิกตัวกลับมาเป็นบวกอย่างมาก ซึ่งเมื่อพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจโลกและตลาดส่งออกที่ทรุดตัวอย่างยาวนานตลอดปีนี้ไปจนถึงปีหน้าแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่ตลอดปีนี้เศรษฐกิจไทยจะสามารถประคองตัวอยู่ที่ 0%

รายงานของ เครดิต ลียองเนส์ ยังระบุว่า บ่อยครั้งที่ตัวเลขจีดีพีชักนำให้เกิดความเข้าใจผิด แต่ในกรณีของไทยจะเห็นว่าตัวเลขไตรมาสที่ 4 อ่อนแอ ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ เพราะการส่งออกติดลบอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ความต้องการบริโภคภายในก็ไม่สามารถชดเชยการส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็ถูกถ่วงโดยความต้องการบริโภคของภาคเอกชนที่ลดลงอย่างมากจนติดลบ 0.1% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ส่วนการลงทุนของภาคเอกชนก็ติดลบ 2.5%

รายงานชิ้นดังกล่าว โจมตีว่า การติดลบอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เสี่ยงที่จะทำให้เกิดการว่างงานมากขึ้น เกิดความไม่สงบทางการเมืองรอบใหม่ ขาดดุลงบประมาณมากขึ้นและอาจนำไปสู่การถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินน้อยกว่าประเทศเศรษฐกิจใหม่อื่นๆ เช่น ยุโรปตะวันออก เนื่องจากมีหนี้ต่างประเทศระยะสั้นต่ำ ทำให้ไม่เผชิญกับวิกฤตในระดับเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540-2541 แม้ว่าเศรษฐกิจจะติดลบมากเกือบเท่าปี 2540-2541 ก็ตาม แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ความเห็นไม่ตรงกันของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้รู้สึกกังวลว่าจะทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออก

นอกจากนี้ ดอกเบี้ยนโยบายของไทยถูกลดไปแล้ว 2.25% และมีแนวโน้มว่า ธปท.จะลดลงอีก 1% ซึ่งจากองค์ประกอบของทั้งอัตราดอกเบี้ยต่ำ การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น การตั้งงบประมาณขาดดุลมากขึ้น อีกทั้งความเสี่ยงทางการเมือง ทำให้บริษัทเชื่อว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงอีก 12% ไปอยู่ที่ 41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปลายปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น