“อัมมาร” เตือนรัฐบาลรับมือผลกระทบวิกฤต ศก.ต่อคนยากจน แนวโน้มตัวเลขพุ่งขึ้นแน่ พร้อมชี้ปม ราคาอาหาร-เชื้อเพลิง ที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่มาตรการช่วยเหลือ ยังไม่ถึงมือคนจนที่แท้จริง แนะรัฐต้องหาวิธีการแจกเงินสดใส่มือคนยากจนโดยตรง พร้อมแสดงความเป็นห่วงฐานข้อมูลคนจน ซึ่งไม่มีการจัดเก็บได้แท้จริง
นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในงานสัมมนาเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจต่อผู้ด้อยโอกาสในประเทศ โดยระบุว่า คนไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะคนยากจนที่มีอยู่ประมาณ 8-10% ของประชากรทั้งประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนยากจนที่อยู่ในชนบท ชาวนา และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาอาหาร และเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2551
นายอัมมาร ยังระบุว่า มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือคนยากจน ยังไม่เพียงพอ เพราะยังขาดการช่วยเหลือรายจ่ายด้านอาหารพื้นฐาน และมาตรการช่วยเหลือยังไม่ถึงมือประชาชนที่ด้อยโอกาส สาเหตุเพราะรัฐบาลขาดข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลข สถานที่ และสถานการณ์ของคนยากจน
“รัฐบาลต้องจัดทำระบบข้อมูลของคนยากจนให้สมบูรณ์ โดยกำหนดให้ประชากรในวัยทำงานทั้งหมดกรอกแบบแสดงรายการภาษีปีละครั้ง ไม่ว่าจะมีงานทำและมีรายได้หรือไม่ ซึ่งวิธีนี้ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศได้นำมาใช้แล้ว”
นายอัมมาร กล่าวอีกว่า การช่วยเหลือกลุ่มคนยากจนที่ตรงจุด และมีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ การช่วยเหลือด้วยเงินสด เหมือนหลายประเทศใช้วิธีให้เงินแก่คนยากจน ซึ่งวิธีการทำได้ทั้งระยะสั้น และระยะยาว
ตอนนี้ ประเทศไทยยังไม่มีโครงการโอนเงินสดในระดับใหญ่ เพราะมีปัญหาการระบุประชากรที่มีฐานะยากจนที่แท้จริง แต่ทีดีอาร์ไอ เชื่อว่า ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ การช่วยเหลือด้วยเงินสดจะบรรเทาปัญหาความยากจนของประเทศไทยได้ และรัฐบาลควรศึกษาวิธีการที่ประเทศต่างๆ ได้นำโครงการนี้มาใช้ เพื่อปรับใช้ในประเทศไทยได้อย่างเหมาะสม
“เดิมเชื่อว่าการยกระดับราคาข้าวจะช่วยแก้ปัญหาคนจนได้ แต่ปัจจุบันเลิกแนวคิดดังกล่าวไปแล้ว เพราะพบข้อมูลว่าชาวนากว่าร้อยละ 30 เป็นชาวนาระดับบน ที่มีฐานะดี และเงินในการยกระดับราคาข้าวถึงร้อยละ 40 ตกไปอยู่ในมือชาวนาระดับบน ไม่ถึงมือเกษตรกรที่ยากจนจริง”
ด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ คือ จัดทำระบบข้อมูลเกี่ยวกับคนยากจนและคนด้อยโอกาสให้ทันสมัย เพื่อให้เงินช่วยเหลือถึงมือคนยากจนอย่างแท้จริง และรัฐบาลควรขยายประกันสังคมให้ครอบคลุมลูกจ้างเอกชนทั้งหมด รวมทั้งแรงงานนอกระบบ 23 ล้านคน ผลักดันให้มีการออมภาคบังคับหลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลต้องเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร เร่งระบบชลประทาน การขนส่ง เพื่อช่วยเหลือคนจนที่อยู่ในภาคเกษตร
นายเอกนิติ เตือนว่า รัฐบาลต้องระวังภาวะเงินเฟ้อที่อาจกลับมาสูงขึ้น และจะกระทบกับรายจ่ายของประชาชน แม้ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อจะติดลบ เพราะเชื่อว่าเมื่อสถาบันการเงินในสหรัฐฯได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯแล้วจะกลับเข้ามาเก็งกำไรน้ำมัน สินค้าเกษตร และทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นอีก ซึ่งจะกดดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นได้