xs
xsm
sm
md
lg

“อัมมาร” หนุนรัฐยึดอำนาจประกันภัยรถ ชี้ บ.งาบหัวคิวฟรี 200 บ./ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยข้อมูล สำรวจผู้ใช้สิทธิ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พบ 99% มีปัญหาเพียบ ทั้งถูกจับขังคุกแทนค่าปรับ ไม่ได้รับสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย หมดตัวกับการรักษา ลืมต่ออายุประกันเลยไม่มีใครรับผิดชอบค่ารักษา เสนอขยายสิทธิต่อจากวันหมดอายุอีก 30 วัน ขณะที่ “อัมมาร” เห็นด้วยรัฐควรยึดคืนการบริหารจัดการมาจากเอกชน

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรประชาชนได้ทำการสำรวจข้อมูลและปัญหาการใช้สิทธิ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เมื่อปี 2549 โดยรวบรวมข้อมูลและสถานการณ์ปัญหาเกี่ยวกับการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เพื่อจัดทำข้อเสนอในการพัฒนาระบบการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุจากรถ หรือผู้ใกล้ชิดกับผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุจากรถจำนวน 666 ราย จาก 48 จังหวัดทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังได้เจาะลึกในกรณีศึกษาผู้ประสบภัยจากรถจำนวน 7 กรณี พบว่า ส่วนใหญ่ 80.20% ทำ พ.ร.บ.เพราะเป็นกฎหมายบังคับ รถที่ทำ พ.ร.บ.มากที่สุดเป็นมอเตอร์ไซค์ และรถกระบะ ส่วนผู้ที่ไม่ทำประกัน เพราะยังมีผู้ที่ไม่ทำเพราะไม่รู้ว่าต้องทำ และไม่คิดว่าจะเกิดเหตุ


น.ส.สารี กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ พบว่า 55.3% ไม่ใช้สิทธิ พ.ร.บ.ในการรักษาพยาบาล แต่เลือกไปใช้สิทธิอื่นแทนเพราะยุ่งยากและเสียเวลา มีเพียง 42% ที่ใช้สิทธิ พ.ร.บ.หรือ จำนวน 280 คน ซึ่งในจำนวนนี้ 99.6% หรือ 279 คน มีปัญหาในการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ซึ่งปัญหาที่พบนั้นมีทั้งหมดตัวกับการรักษาพยาบาล ถูกจับขังคุกแทนค่าปรับ หรือแม้แต่ยังไม่ได้รับสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจากโรงพยาบาล ต้องใช้เอกสารประกอบจำนวนมาก แต่ไม่ได้รับคำแนะนำ หรือการชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ ขณะที่หลายกรณีตำรวจไม่รับแจ้งความ ไม่ลงบันทึกประจำวัน มาถึงที่เกิดเหตุช้า ทำสำนวนให้ผู้เสียหายเสียสิทธิ เช่น ทำคนถูกให้เป็นคนผิด เป็นต้น

“ส่วนใหญ่ผู้ประสบภัยจากรถ ยัขาดความรู้เรื่องกฎหมายฉบับนี้ ขณะที่บริษัทประกันภัยไม่รับผิดชอบ และไม่ติดตามงานอย่างต่อเนื่อง และมีปัญหาอีกมากมายตามมา หากผู้ประสบภัยจากรถไม่มีใบขับขี่ หรือ คู่กรณีไม่รับผิดชอบ หรือบางกรณีลืมต่อประกันแค่เพียงวันเดียวก็หมดสิทธิ์รักษาพยาบาล ซึ่งควรมีหารขยายการคุ้มครองต่อเนื่องหลังประกันหมดอายุ 30 วันด้วย” น.ส.สารี กล่าว

น.ส.สารี กล่าวด้วยว่า การที่ รมว.สาธารณสุข มีแนวคิดในการรื้อระบบการคุ้มครองผู้ประสบภัยทางรถใหม่จึงเห็นด้วย 1000% โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลให้โดยตรงกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอยู่แล้ว

ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการและคณะกรรมการบริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการด้านสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เคยนำเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถภาคบังคับ พ.ศ. ... เพื่อนำมาใช้แทน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 โดยเปลี่ยนแปลงวิธีการทำประกันและการบริการเงินกองทุนใหม่ โดยกำหนดให้ประชาชนต้องทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับกับกรมการขนส่งเป็นผู้จัดเก็บเบี้ยประกันภัยแทนบริษัทประกันวินาศภัย ส่วนการเบิกจ่ายเงินชดเชยกรณีเกิดอุบัติเหตุ ให้กรมบัญชีกลางเป็นดูบริหารจัดการ ซึ่งหลักในการชดเชย จะไม่มีการพิสูจน์ถูก ผิด แต่หากนายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข เสนอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้บริหารจัดการเงินกองทุนประกันภัยก็สามารถทำได้ เพราะไม่ว่าใครจะเป็นผู้บริหารจัดการย่อมดีกว่าให้การบริหารกองทุนประกันภัยซึ่งเป็นภาคบังคับตกอยู่กับภาคเอกชนอย่างแน่นอน

“รัฐต้องยึดอำนาจการบริหารจัดการ และการเก็บเบี้ยประกันกลับคืนมาจากเอกชน เขาไม่ควรได้กำไรจากการเก็บเบี้ยประกันด้วยซ้ำ หากรัฐนำกลับมาบริหารจัดการเองก็สามารถให้สิทธิประโยชน์กับประชาชนมากขึ้น ทุกวันนี้บริษัทประกันที่เปิดเป็นห้องแถวได้ค่าหัวคิวในการรับทำประกันหัวละ 200 บาท ทำไมประชาชนต้องเสียเงินตรงนี้โดยเปล่าประโยชน์ หากกรมขนส่งทางบกซึ่งปัจจุบันก็เก็บค่าต่อทะเบียนรถยนต์อยู่แล้ว ก็ควรจะเดินหน้าให้เต็มสูบโดยเป็นผู้จัดเก็บเบี้ยประกันภัยด้วย” ศ.ดร.อัมมาร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น