xs
xsm
sm
md
lg

ฟิทช์ลดเครดิตSCCที่ระดับA(tha) ชี้อุปสงค์ต่ำเหตุเศรษฐกิจถดถอย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟิทช์ เรทติ้งส์ฯ ปรับลดอันดับเครดิตในประเทศระยะยาวที่ระดับ A(tha) จาก A+(tha) พร้อมคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ F1(tha) เนื่องจากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ส่งผลต่ออุปสงค์ของกลุ่มธุรกิจหลักของบริษัท ทำให้ผลงานด้อยลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เหตุฐานการเงินแกร่ง ผลดีจากกระแสเงินสด

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term rating) ของ บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC ลงมาที่ระดับ A(tha) จาก A+(tha) ในขณะเดียวกันฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของ SCC ที่ระดับ F1(tha) นอกจากนี้ฟิทช์ยังได้ปรับลดอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันไม่ด้อยสิทธิที่คงเหลืออยู่ของ SCC ลงมาที่ระดับ A(tha) จาก A+(tha) และได้ให้อันดับเครดิตภายในประเทศ แก่หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันไม่ด้อยสิทธิชุดใหม่ของ SCC ครั้งที่ 1/2552 มูลค่าไม่เกิน 2.0 หมื่นล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนปี 56 ที่ระดับ "A(tha)" โดยเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่จะนำมาใช้ชำระคืนหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระและสำรองไว้เพื่อการลงทุนใหม่บางส่วน แนวโน้มเครดิตของ SCC ได้ถูกเปลี่ยนเป็นมีเสถียรภาพจากแนวโน้มเครดิตเป็นลบ

การปรับลดอันดับเครดิตเป็นผลกระทบมาจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอในปี 51 ทำให้ผลงานของ SCC ด้อยลงและต่ำกว่าที่ฟิทช์ได้คาดการณ์ไว้ บวกกับสภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกและภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวมาก น่าจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์และราคาสินค้าในกลุ่มธุรกิจหลักของ SCC ในปี 52 ซึ่งจะทำให้การปรับลดอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทเกิดขึ้นไม่มากนักช่วง 24 เดือนข้างหน้า แม้ว่าบริษัทจะลดต้นทุนและมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในแผนการลงทุนและนโยบายจ่ายเงินปันผลก็ตาม

ในปี 51 SCC มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) (ก่อนเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม) 3.1 หมื่นล้านบาท ลดลง 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เพราะส่วนต่างกำไรที่ลดลงจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานช่วง 9 เดือนแรกปี 51 และขาดทุนจากลดค่าลงของสินค้าคงคลัง 5 พันล้านบาท เพราะผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงอย่างมากในไตรมาส 4 ปี 51

ทั้งนี้ กำไรดังกล่าวต่ำกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ไว้สำหรับปี 51 และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA Margins) ลดลงมาที่ 11% ในปี 51 จาก 15% ในปี 50 จากผลงานที่ด้อยลงประกอบด้วยเงินลงทุนในโครงการขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้น บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย (รวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม) (Net Debt to EBITDA) เพิ่มเป็น 3.1 เท่า ณ สิ้นปี 51 จากระดับ 2.1 เท่า ณ สิ้นปี 50

สภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะตกต่ำลงอีกในปี 52 จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของ SCC ขณะที่ยอดขายในประเทศจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาก ดังนั้นแนวโน้มกำไรการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายอ่อนแอและแผนลงทุนยังสูงเพื่อขยายกำลังผลิต 3.6 หมื่นล้านบาทในปี 52 น่าจะทำให้ Net Debt to EBITDA เพิ่ม 3.5 เท่า แม้ SCC คาดลดให้อยู่ระดับ 2.5 เท่าได้ภายในสิ้นปี 53 แต่ฟิทช์ยังมองเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ทำให้มีความเสี่ยงการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราส่วนนี้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 2-3ปีข้างหน้า

แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพสะท้อนถึงความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจหลักของ SCC ระดับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานอยู่ระดับสูง และแผนลงทุนใหม่ในอนาคตที่ลดลงน่าจะช่วยรักษาสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินของ SCC ให้อยู่ในระดับเครดิตได้ในระยะปานกลาง สภาพคล่องเงินยังแข็งแกร่งแม้การดำเนินธุรกิจลำบากขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากระดับของเงินสดคงหลือ 2.67 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 51 และการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ในประเทศ

ฟิทช์กล่าวว่าการลดลงของอัตราส่วนกำไรอย่างต่อเนื่องและอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่สูงกว่าคาดการณ์ไว้อาจส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตของ SCC ได้ ขณะที่ความสามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินปรับลด 2.5 เท่า หรือต่ำกว่านั้นได้ต่อเนื่องถือเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของ SCC
กำลังโหลดความคิดเห็น