ASTVผู้จัดการรายวัน - บลจ.ธนชาต ยังชูการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เป็นทางเลือกที่ปลอดภัย แม้ดอกเบี้ยต่ำกว่าหุ้นกู้เอกชน เดินหน้าปรับเกมรับมือเศรษฐกิจถดถอย ผสมการลงทุนตราสารหนี้อายุสั้นและอายุยาว ระบุไม่ห่วงเงินเฟ้อกลับมาอีกรอบ เหตุการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ไม่สูงเหมือนในอดีต ส่วนซัพพลายใหม่ที่กำลังจะออกมา ก็จะไม่ดึงยิลด์ขึ้นไปสูงมากนัก
นายบุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ธนชาต จำกัด เปิดเผยถึงการเข้าไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลว่า ปัจจุบันถึงแม้ว่าอัตราผลตอบแทนจะได้น้อยกว่าการเข้าไปลงทุนในหุ้นกู้เอกชนก็ตาม แต่การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเองก็มีความปลอดภัย อีกทั้งยังมีสภาพคล่องสูงด้วย เช่นเดียวกันบริษัทที่มีกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ของภาครัฐและหรือลงทุนในหุ้นกู้เอกชนเอง หวังเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุนมีการลงทุนที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น อาทิ กองทุนเปิดธนชาตบริหารเงิน (T-CASH) ที่มีนโยบายการลงทุนผสมหุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับเครดิตเข้ามา ทำให้การลงทุนจะมีความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีแก่นักลงทุน หรือกองทุนเปิดธนชาตตลาดเงิน (T-MONEY) ซึ่งลงทุนเฉพาะตราสารหนี้ภาครัฐผสมกับเงินฝากธนาคารโดยมีอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ที่ลงทุนไม่เกิน 4 เดือน ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่ำและสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีเช่นกัน
ทั้งนี้ ในส่วนของกองทุนโรโอเวอร์ ( Roll Over) บริษัทยังคงต้องอาศัยการรอดูจังหวะในการออกด้วย เนื่องจากในบางครั้งอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะสั้นปรับตัวลงมามาก ผลตอบแทนของกองทุนที่ได้ก็อาจจะน้อยกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารที่มีเทอมเท่ากันได้ เพราะผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ปรับตัวลงเร็วกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก อย่างไรก็ตาม ในบางช่วงที่ผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ไม่ปรับลงมามากก็มีโอกาสที่จะออกได้เช่นกัน เพราะเมื่อเทียบเป็นผลตอบแทนสุทธิแล้วยังดีกว่า ดังนั้นกองทุนโรโอเวอร์ ประเภทตราสารหนี้เองยังมีโอกาสอยู่แต่ก็เหนื่อยในปีนี้
ส่วนนักลงทุนที่จะมีกำหนดครบอายุของกองทุนต่าง ๆ นั้น บริษัทอยากแนะนำนักลงทุนในเข้ามาลงทุนในกองทุนประเภทมันนี่มาร์เก็ตแทน เนื่องจากว่ากองทุนประเภทมันนี่มาร์เก็ตสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีแล้ว นักลงทุนบางรายอาจจะใช้ช่องทางนี้เพื่อเป็นแหล่งพักเงินก่อนที่จะมีช่องทางใหม่ ๆ ในการลงทุนต่อไปด้วย
ด้านนายตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ธนชาต จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่เกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัทต้องมีการปรับกลยุทธ์ในการลงทุนใหม่ โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้ที่บริษัทมีการผสมผสานระหว่างตราสารหนี้อายุสั้นและตราสารหนี้ที่มีอายุยาว หลังจากที่อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะยาวเริ่มที่ชันขึ้น โดยตราสารหนี้ระยะสั้นให้อัตราผลตอบแทนประมาณ 1% กว่า
ในขณะที่ตราสารหนี้ระยะยาวให้อัตราผลตอบแทน 3-4% ต่างกันมากพอสมควร ซึ่ง บลจ. ธนชาต มองว่าอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะยาวปรับตัวขึ้นมามากจนมีความน่าสนใจลงทุน แม้ว่าหลายคนอาจจะกังวลต่อการกลับมาของเงินเฟ้อ ซึ่งอาจจะเป็นความเสี่ยงต่อการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวหากเงินเฟ้อกลับมา จะทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้ แต่ในมุมมองของเราไม่ค่อยกลัวเรื่องเงินเฟ้อในระยะ 2-3 ปี ข้างหน้าเท่าไรนัก เพราะไม่เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเร็วเหมือนที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ เมื่อภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว เชื่อว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะไม่สูงเหมือนในอดีต แต่น่าจะเติบโตค่อนข้างต่ำเฉลี่ย 1-2% ในขณะที่ประเทศไทยเองอาจจะมีการเติบโตได้ 3-4% ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อของโลกเติบโตอย่างแผ่วเบา เพราะคนจะระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นไม่เหมือนที่เคยใช้จ่ายเกินตัวเช่นก่อนหน้าที่จะมีวิกฤติ เมื่อดีมานด์ไม่กลับมาเร็ว ซัพพลายจะเหลือมากทั่วทั้งโลก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในลักษณะนี้ไม่น่าจะทำให้เงินเฟ้อกลับมาอย่างรวดเร็วได้ เว้นแต่เกิดมีดีมานด์กลับมาในตลาดอย่างรวดเร็วหรือเศรษฐกิจกลับมาบูมเร็วกว่าที่คิด แต่บริษัทไม่ได้มองเช่นนั้น
นอกจากนี้ ในส่วนของซัพพลายใหม่ในส่วนของตราสารหนี้ที่จะมีออกมาในตลาด ซึ่งอาจจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในตลาดปรับตัวขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่เราห่วงเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะยาวปรับตัวขึ้นมามากแล้ว ดังนั้น แม้จะมีความเสี่ยงที่อัตราผลตอบแทนจะขยับขึ้นอีกจากซัพพลายของตราสารหนี้ที่จะมีออกมาในอนาคตนั้น ก็ไม่น่าจะปรับตัวสูงขึ้นจากระดับปัจจุบันได้มากนัก ถ้าเทียบอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงที่มีทำให้บริษัทมีความสนใจที่จะขยับการลงทุนไปในตราสารหนี้ที่มีอายุยาวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามก็มีการผสมผสานกับตราสารหนี้ที่มีอายุสั้นเอาไว้ด้วย เพื่อจะได้ไม่พลาดโอกาสในการลงทุนหากทิศทางของตลาดเปลี่ยนไป ทั้งนี้มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือR/P 1 วันของธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะปรับลงได้อีก 1.0-1.5% จากปัจจุบัน