xs
xsm
sm
md
lg

ไทยออยล์ อ่วม!สตอกน้ำมันฉุดกำไรหาย 1.89 หมื่นล. Q4/51 เจ๊ง 8.4 พันล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไทยออยล์ แบกต้นทุนสตอกน้ำมันอ่วม! เผยไตรมาส 4 ปี 51 ขาดทุนสุทธิ 8.4 พันล้าน หลังราคาน้ำมันโลกผันผวน พุ่งสูงสุดช่วงกลางปี 51 สูงกว่า 147 ดอลลาร์/บาเรล และลดลงเหลือ 40 ดอลลาร์/บาเรล ช่วงปลายปี 51 ทำให้ขาดทุนสตอกน้ำมัน-ฉุดกำไรหายวับ 1.89 หมื่นล้านบาท

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) รายงานงบการเงินไตรมาส 4 ปี 2551 และผลการดำเนินงานปี 2551 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ซึ่งทั้งปี 2551 มีกำไรที่ 223.57 ล้านบาท เทียบกับปี 2550 กำไรที่ 1.91 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ในไตรมาส 4 ปี 2551 บริษัทฯ มีผลขาดทุนจากสตอกน้ำมันประมาณ 16,819 ล้านบาท จากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศต่างๆ ทั่วโลกอันส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง ทำให้ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ดังนั้น ในไตรมาส 4 ปี 2551 บริษัทฯ และบริษัทย่อยจึงมีขาดทุนก่อนดอกเบี้ย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและรายจ่ายตัดบัญชี (EBITDA) จำนวน 9,568 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี บริษัทฯและบริษัทย่อยมีกำไรจากการกลับรายการค่าเผื่อการด้อยค่าของเงินลงทุนในบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด จำนวน 779 ล้านบาท เนื่องจากบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด เริ่มมีผลประกอบการที่ดีขึ้น การขาดทุนในไตรมาสทำให้มีการบันทึกภาษีเงินได้ที่ได้รับคืนจำนวน 3,145 ล้านบาท

ดังนั้น บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีผลขาดทุนสุทธิในไตรมาส 4 ปี 2551 ทั้งสิ้นจำนวน 8,394 ล้านบาท หรือขาดทุนต่อหุ้น 4.11 บาท เปรียบเทียบกับกำไรสุทธิในไตรมาส 4 ปี 2550 จำนวน 3,454 ล้านบาท หรือกำไรต่อหุ้น 1.69 บาท

ขณะที่ในไตรมาส 4 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายจำนวน 65,221 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,980 ล้านบาทจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายกำลังการผลิตของหน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่ 3 (CDU-3) ของบริษัทฯ ที่แล้วเสร็จในปลายปี 2550 และการขยายกำลังการผลิตสารอะโรเมติกส์ของบริษัท ไทยพาราไซลีน จำกัด (TPX) ที่แล้วเสร็จในไตรมาส 2 ปี 2551 ทำให้ปริมาณวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตของกลุ่ม (Integrated Intake) เพิ่มขึ้นจาก 175 พันบาร์เรลต่อวันช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น289 พันบาร์เรลต่อวันในไตรมาส 4 ปี 2551

โดยในปี 2551 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายจำนวน 399,125 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 138,074 ล้านบาทจากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนและการขยายกำลังการผลิตของบริษัทฯ และ TPX ทำให้ปริมาณวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตของกลุ่ม (Integrated Intake) เพิ่มขึ้นเป็น 287 พันบาร์เรลต่อวันในปี 2551 เทียบกับปีก่อนที่ 231 พันบาร์เรลต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างมากจากสิ้นปีก่อน ทำให้บริษัทฯ มีผลขาดทุนจากสตอกน้ำมันประมาณ 14,948 ล้านบาท ดังนั้นบริษัทฯ และบริษัทย่อยจึงมี EBITDA จำนวน 7,949 ล้านบาท ลดลง 21,010 ล้านบาทจากปีก่อน มีดอกเบี้ยจ่ายจำนวน 2,116 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 390 ล้านบาทจากปีก่อนจากความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน

ซึ่งผลจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงจาก 33.89 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2550 มาปิดที่ 35.08 ดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2551 ทำให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในปี 2551 จำนวน 898 ล้านบาท และจากผลการดำเนินงานที่ขาดทุนในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปี 2551 บริษัทฯ และบริษัทย่อยจึงรับรู้ภาษีเงินได้คืนจำนวน 786 ล้านบาท ดังนั้นในปี 2551 บริษัทฯ และบริษัทย่อยจึงมีผลกำไรสุทธิออกมาตามที่ปรากฎ
กำลังโหลดความคิดเห็น