xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ยันขึ้นราคาก๊าซ LPG กก.ละ 6 บาท ประเทศไทยได้ประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปตท.เร่งกลบค่าโง่นำเข้าก๊าซหุงต้ม 8 พันล้าน พร้อมแจงการขึ้นราคา ก๊าซ LPG กก.ละ 6 บาท ปตท.ไม่ได้ประโยชน์ เพราะต้นทุนนำเข้าถูกผลักไปที่ผู้บริโภค และกองทุนเชื้อเพลิง แต่ประเทศจะได้ประโยชน์ และผู้ค้าได้เงินไปล้างหนี้

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ชี้แจงกรณีการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคขนส่งและอุตสาหกรรม กิโลกรัมละ 6 บาท โดยยืนยันว่า ปตท.ไม่ได้ประโยชน์จากการขึ้นราคา แต่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ เพราะไม่ต้องรับภาระต้นทุนนำเข้าที่มีภาระรับส่วนต่างกว่า 100 ดอลลาร์ต่อตัน หรือประมาณกิโลกรัมละ 4 บาท

ปตท.ระบุว่า ประเทศไทยเริ่มขาดแคลนก๊าซ LPG ตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 เป็นต้นมา โดยมีปริมาณนำเข้ารวมระหว่างเดือนเมษายน-ธันวาคม 2551 เป็นจำนวนรวม 450,000 ตัน ซึ่งเกิดจากความต้องการ LPG ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่จะคาดการณ์ได้ และเป็นผลมาจากการควบคุมราคาของภาครัฐ โดยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลก และประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมระบุว่า ในปี 2548-2551 ในขณะที่ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การใช้ LPG เป็นเชื้อเพลิงสูงขึ้นถึง 15% โดยเฉพาะในภาคขนส่งสูงขึ้นถึง 37%

ปตท.ระบุเพิ่มเติมว่า คงเป็นไปไม่ได้ที่ ปตท.จะสร้างโรงแยกก๊าซเพิ่มขึ้นให้ทันต่อความต้องการดังกล่าว เนื่องจากการก่อสร้างโรงแยกก๊าซ จะต้องมีการวางแผนล่วงหน้าและทำการก่อสร้างไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งถ้าหากย้อนหลังกลับไปในปลายปี 2547 ตอนเริ่มวางแผนสร้างโรงแยกก๊าซ หน่วยที่ 6 ความต้องการ LPG เป็นเชื้อเพลิงขณะนั้นอยู่ในระดับ 2.2 ล้านตัน และประเทศไทยยังมีการส่งออก LPG ปีละเกือบ 1 ล้านตัน ซึ่งคาดการณ์ในตลาดขณะนั้น ว่า เมื่อโรงแยกก๊าซ หน่วยที่ 6 แล้วเสร็จประมาณปี 2553 ปริมาณส่งออกจะสูงถึง 1.8-2.0 ล้านตัน/ปี แต่ในปี 2551 ที่ผ่านมา ความต้องการ LPG เป็นเชื้อเพลิงสูงถึง 3.6 ล้านตัน ทำให้ต้องมีการนำเข้ากว่า 400,000 ตัน ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา ซึ่งหากการขยายตัวยังอยู่ในอัตราปัจจุบัน แม้จะมีการขยายโรงแยกก๊าซก็ไม่สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น และต้องมีการนำเข้า LPG ต่อไป หากไม่มีการแก้ปัญหาให้ถูกจุด

ส่วนข้อเสนอการปรับขึ้นราคา LPG ของกระทรวงพลังงาน ที่ผ่านมา ไม่เป็นการสวนกระแสกับราคาก๊าซในตลาดโลกที่ร่วงลงมา 60% จากกลางปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเสนอปรับขึ้นราคา LPG ในครั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาที่เรื้อรังมานาน จนทำให้การใช้ LPG บิดเบือน ไม่เกิดประสิทธิภาพ และทำให้ต้องมีการนำเข้า และเป็นภาระของรัฐบาลมากขึ้น แม้ว่าในปัจจุบันราคา LPG ในตลาดโลกลดลงมาอยู่ที่ 380 ดอลลาร์ต่อตัน แต่หากบวกค่าขนส่งถึงประเทศไทยก็จะอยู่ที่ 430 ดอลลาร์ต่อตัน และต้องนำมาจำหน่ายในราคาควบคุมที่กิโลกรัมละ 10.996 บาท หรือ 314 ดอลลาร์ต่อตัน (คิดอัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อดอลลาร์) ทำให้รัฐยังคงรับภาระอยู่อีกประมาณกว่า 100 ดอลลาร์ต่อตัน หรือประมาณกิโลกรัมละ 4 บาท ในขณะที่การปรับขึ้นราคาภาคขนส่งและอุตสาหกรรมเพียงกิโลกรัมละ 2.70 บาท

ทั้งนี้ รัฐเป็นผู้รับผลประโยชน์จากการเสนอปรับราคา LPG ดังกล่าว เนื่องจากข้อเสนอของกระทรวงพลังงานในการปรับราคา LPG ขึ้น 2.70 บาท/กก.ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรมนั้น เป็นการปรับเพิ่มขึ้นของกองทุนน้ำมันฯ จำนวน 2.52 บาท/กก.และอีก 0.18 บาท/กก. เป็นส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยผู้ผลิตทั้งโรงแยกก๊าซ และโรงกลั่นจะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากการขึ้นราคาขายในครั้งนี้แต่ประการใด โดยรัฐยังคงควบคุมโรงแยกก๊าซและโรงกลั่นเท่าเดิมที่ 10.996 บาท/กก.หรือ 314 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ซึ่งผู้ผลิตยังคงต้องรับภาระส่วนต่างของราคาตลาดโลกกับราคาควบคุมอยู่ต่อไป

ดังนั้น ส่วนต่างของราคาขายปลีกหลังการปรับราคากับราคาตลาดโลกจะเป็นส่วนที่รัฐเก็บในรูปภาษีต่างๆ และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 6.57 บาท/กก.ผู้ค้าน้ำมันตัวแทนจำหน่าย และร้านค้าจะได้ค่าการตลาด 3.26 บาท/กก.ในขณะที่ผู้ผลิตต้องรับภาระ 2.30 บาท/กก.

ปตท.สรุปว่า การเสนอปรับราคา LPG ในภาคขนส่ง อุตสาหกรรม จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบายการแก้ปัญหาราคา LPG และเพื่อให้เกิดการใช้ LPG เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด และลดการนำเข้า โดยผู้ผลิต LPG มิได้มีส่วนได้รับประโยชน์อันใดจากการปรับขึ้นราคาดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น